ไม่พบผลการค้นหา
ประธานวิปฝ่ายค้านนำ 214 รายชื่อ ยื่นญัตติขออภิปรายนายกฯ แล้ว ระบุ หากนายกฯ ยังไม่มาตอบ หรือตอบไม่ชัด เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ - ร้อง ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญต่อ ขณะที่ "ชวน" เผย หากญัตติถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถบรรจุได้ภายในเดือน ส.ค. นี้

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน พร้อมตัวแทน 7 พรรค เข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเสนอญัตติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่สมบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมี ส.ส. 7 พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อเสนอญัตติรวม 214 คนลงชื่อ ในเนื้อหาของญัตติ ยังพบว่าได้เพิ่มประเด็นขออภิปรายกรณีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่มีการแจ้งแหล่งที่มาของงบประมาณในการดำเนินการ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

นายสุทิน ย้ำว่าญัตตินี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาตอบคำถามด้วยตัวเอง หากยังเพิกเฉย หรือชี้แจงไม่ชัดเจน ก็จะใช้ช่องทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และช่องทางกฎหมายอื่นมาดำเนินการต่อไป   

ส่วนกรอบเวลา นายสุทิน มองว่าควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายซักถาม อย่างน้อย 2 วัน แต่หากเป็นไปได้กรอบเวลา 3 วันถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อให้อธิบายเนื้อหาได้อย่างครบถ้วน 

นายชวน เตรียมมอบหมายให้รองประธานสภาฯ ที่ดูแลญัตติ ตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเข้าบรรจุวาระ พร้อมยอมรับว่าการเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีกำหนดในข้อบังคับ แต่สามารถนำข้อบังคับเดิมที่เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาใช้โดยอนุโลมได้ ยืนยันว่าการตอบคำถาม นายรัฐมนตรี ควรมาด้วยตัวเอง แต่หากมาไม่ได้หรือส่งตัวแทน ก็ต้องมีมติคณะรัฐนตรี และทำหนังสือชี้แจงเหตุผลต่อสภา 


ฝ่ายค้านยื่นญัตติ

นายชวน ยังยืนยันว่า หากญัตติดำเนินการถูกต้อง คาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ภายในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งญัตติดังกล่าวถือเป็นญัตติด่วน สามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ทันที หากที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน 

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มาชี้แจงกระทู้ถามประจำสัปดาห์ด้วยตัวเอง เบื้องต้นทางสภาผู้แทนราษฎรจะทำหนังสือทวงถามเหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่มาตอบคำถามจากนายกรัฐมนตรี ให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมาย 

โดยญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่ขอเปิดอภิปรายทั่้วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี ถึงประธานผู้แทนราษฎร มีความว่า ด้วยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 161 กำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรมนูญแห่งราชอาณจักรไทยทุกประการ" 

แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตัวยถ้อยคำดังนี้ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภัคดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ตัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป" 

ถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณข้างตันได้ขาดสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือ "...ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" อีกทั้งมีถ้อยคำที่เกินเลยไปจากที่รัฐธรมนูญบัญญัติไว้ คือคำว่า "ตลอดไป"

การที่นายกรัฐนตรี กล่าวนำการถวายสัตย์ฏิญาณไม่ครบถ้วนถูกต้องข้างตัน ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรมนูญอันเป็นเรื่องที่เป็นแบบแผนและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทย ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติของรัฐธรมนูญจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรมนูญมาตรา 161 การถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนั้นจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคดแรก การกล่าวถวายสัตย์ฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรีเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ขัดต่อประชาชนทั่วไปและนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับขัอเท็จจริงข้างต้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องกลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

กรณีดังกล่าว จึงเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จนส่งผลต่อเนื่องไปถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. 2562 อีกทั้งการแถลงนโยบายในครั้งนั้นก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรมนูญมาตรา 162

ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเห็นว่าหากคณะรัฐมนตรียังไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง เกิดความไม่แน่นอนชัดเจนเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จนอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ จึงได้เข้าชื่อร่วมกันเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152

ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าวมาเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีและให้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อนึ่ง ญัตติที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เสนอต่อท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีว่าจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจส่งผลกระทบเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอความกรุณามายังท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดดำเนินการตามญัตตินี้เป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย