ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กตั้งคณะกรรมการดูแลเนื้อหาสุ่มเสี่ยง มีทั้งอดีตผู้พิพากษา อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รวมไปถึงผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันพุธที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประกาศรายชื่อคณะกรรมการอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาข้อมูลบนแพลตฟอร์ม หรือมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า 'ศาลฎีกา' ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เจ้าของรางวัลโนเบล ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยมีหน้าที่หลักในการกำกับเนื้อหาบางประเภทว่าควรเผยแพร่บนแพลตฟอร์มหรือไม่ หลังเฟซบุ๊กถูกวิจารณ์มาเป็นเวลานานในประเด็นดังกล่าว

คณะกรรมการชุดแรกทั้ง 20 คน มาจาก 27 ประเทศ และสามารถสื่อสารได้ถึง 29 ภาษา อย่างไรก็ตาม สัดส่วนกว่าหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการชุดนี้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และ ประธานคณะกรรมการร่วมสองจากสี่คนก็มาจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

สำหรับรายชื่อของประธานร่วมทั้ง 4 คน ได้แก่ ไมเคิล แมคคอลเนล อดีตผู้พิพากษาศาลกลางของสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพทางศาสนา, เจมาล กรีน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ, คาติลินา โบเตโร-มาริโน อัยการจากประเทศโคลัมเบีย และ เฮลเลอร์ ทอร์นนิ่ง ชมิดท์ อดีตนายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก

ขณะที่ ฝั่งคณะกรรมการชุดแรกนั้น ประกอบไปด้วย อันดราส ซาโจ อดีตผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป, จูลี โอโวโน ผู้อำนวยการสูงสุดแห่งสมาคมอินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน, ทาวัคโคล การ์แมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวเยเมน, นิโคลัส ซูเซอร์ นักวิจัยเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตชาวออสเตรเลีย และ นิกแฮต แดด ผู้สนับสนุนสิทธิทางดิจิทัลชาวปากีสถาน 

'นิก เคลก' ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการโลกของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า คณะกรรมการเหล่านี้ล้วนมีเกียรติและมีความน่าเชื่อถือ แต่ผลงานของทุกคนจะถูกพิสูจน์โดยระยะเวลา นิก ชี้ว่า "ผมไม่หวังให้ผู้คนพูดว่า โอ้ พระเจ้า คนเหล่านี้เยี่ยมมาก นี่จะต้องสำเร็จแน่ เพราะมันไม่มีเหตุผลที่ใครควรจะเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จจนกว่าจะเริ่มรับรู้ถึงกรณีที่ยากๆ ในระยะเวลาเป็นเดือนถึงเป็นปีที่ผ่านมา"

แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนคณะกรรมการราว 20 ราย แต่เฟซบุ๊กชี้ว่าบอร์ดดังกล่าวมีเป้าหมายให้มีคณะกรรมการทั้งหมด 40 คน และจะใช้เม็ดเงินประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,200 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานอย่างน้อย 6 ปี 

แมคคอลเนล หนึ่งในประธานร่วมของคณะกรรมการชุดนี้ชี้แจงว่า "พวกเราไม่ใช่ตำรวจ อย่ามองพวกเราเป็นกลุ่มจู่โจมเร็วกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที" เนื่องจากเมื่อมีกรณีพิจารณาเข้ามา คณะกรรมการจะใช้เวลาตัดสินใจภายใน 90 วัน อีกทั้งเฟซบุ๊กเองยังสามารถยื่นร้องให้มีการทบทวนเพิ่มอีก 30 วันได้ ขณะที่ ซูเซอร์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ ย้ำว่า "เราไม่ได้ทำงานให้เฟซบุ๊ก เรากำลังพยายามกดดันเฟซบุ๊กให้พัฒนาเกณฑ์และปฏิบัติงานเพื่อเคารพต่อสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น...แต่ผมก็ไม่ได้ไร้เดียงสาจนมองว่ามันจะเป็นงานที่ง่าย"

อ้างอิง; Reuters, BI