ไม่พบผลการค้นหา
'ซีเอ็นเอ็น' ชี้ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยพุ่งจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในการใช้บังคับใช้กฎหมายจราจร รวมไปถึงความไม่ตระหนักของผู้ขับขี่บนท้องถนน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ ระบุสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยมักเกิดจากการเมาแล้วขับ การทุจริตรับสินบนของเจ้าหน้าที่ และความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายจราจรเป็นหลัก ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยจำนวน 22,941 ราย และเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตบนถนนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ' 7วันอันตราย ' ตามรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของไทยระบุว่า ในช่วง 27 ธ.ค. 2561 - 2 ม.ค. 2562 มียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 463 คน และผู้บาดเจ็บอีก 3,791 ราย

นอกจากนี้ในรายงานเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนทั่วโลกของ WHO ประจำปี 2561 ระบุว่า บนท้องถนนประเทศไทยเฉลี่ยในแต่ละวันมีคนตายประมาณ 62 คน และในช่วงเทศกาลปีใหม่ยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 68 คนต่อวัน และผู้เสียชีวิตจำนวนร้อยละ 73 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์

ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย

'นายนิกร จำนง' อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม และประธานมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยของประชาชนกล่าวกับ CNN ว่า 'หากจะปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราจะต้องหยุดยั้งการทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจราจร เพราะนั้นคือหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหา ทั้งการทุจริตในการบังคับใช้กฎหมายและการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะ'

ปัจจบุันบนท้องถนนในประเทศไทยมีผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 58 เท่านั้น 

CNN ยังกล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศยากจนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวย และอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุหลักในลำดับที่ 8 ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกแซงหน้าการเสียชีวิตจากโรคเอดส์และวัณโรค โดยในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 1.35 ล้านคน

'ไมเคิล อาร์ บลูมเบิร์ก' ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Bloomberg Philanthropies และ เป็นทูตของรณรงค์เรื่องของโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ กล่าวว่า 'หลายประเทศไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการออกกฎหมายจราจรและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมไปถึงการออกแบบถนนให้ปลอดภัย และความตระหนักถึงความปลอดภัยในที่สาธารณะซึ่งเรื่องดังกล่าวจะสามารถช่วยชีวิตประชากรทั่วโลกได้หลายล้านคนในช่วงทศวรรษหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้' 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :