ไม่พบผลการค้นหา
นับตั้งแต่มีมติแต่งตั้งครม.เศรษฐกิจเมื่อ 30 ก.ค. 2562 ถึงตอนนี้ เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน ที่ 15 รัฐมนตรี 3 รองนายกฯ และ 'พล.อ.ประยุทธ์' หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องยอมรับความจริง ถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ 'จีดีพีโตต่ำสุดรอบ 5 ปี-ส่งออกทรุดหนัก-ดัชนีความเชื่อมั่นทุกตัวลดลง'

นับตั้งแต่รัฐนาวาประยุทธ์ยุคที่ 2 เปิดฉากบริหารประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกและยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะต่ออีกเป็นปีที่ 5 

แต่รอบนี้ สูตรของคณะรัฐมนตรี 36 คน มาจากนักการเมือง 6 พรรค (พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, ชาติพัฒนา และรวมพลังประชาชาติไทย) ที่เข้าไปดูแลกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่อเค้ามาตั้งแต่หลังเลือกตั้งว่า "ไม่สู้ดี" ทั้งจากปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การส่งออกหดตัว การลงทุนรัฐล่าช้า การลงทุนเอกชนยัง wait&see (รอและมองดูไปก่อน)

ในเวลานั้น ตัวเลขเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2562 จากหน่วยงานราชการเริ่มทยอยรายงาน ไล่มาตั้งแต่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกครึ่งปีแรก ติดลบร้อยละ 2.91 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับประมาณการจีดีพีปี 2562 ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ให้มาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.8 แม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะยังยืนยันในปลายเดือน ก.ค.ว่า คงประมาณการจีดีพีไว้ที่้ร้อยละ 3.8 เช่นเดิมก็ตาม  

ในเวลาเดียวกัน ในฝั่งภาคเอกชน ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ก็ได้ประกาศปรับลดประมาณการส่งออกไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ ติดลบร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 1 จากเดิมคาดไว้ว่าเติบโตร้อยละ 3-5 และปรับลดประมาณการจีดีพีลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9-3.3 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.7-4.0 

นั่นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรากฎออกมาเมื่อกลางปีที่ผ่านมาต้อนรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หน้าเดิม

ครม.เศรษฐกิจ

ตั้งครม.เศรษฐกิจ -ประยุทธ์เป็นประธาน-รวม 12 รมว.-3 รองนายกฯ

สถานการณ์เศรษฐกิจเมื่อกลางปี 2562 แม้ฟากรัฐบาลจะยังไม่ยอมรับเต็มปากว่า 'หนักหนา' แต่ก็ทำให้ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ 1/2 ครั้งที่ 3/2562 วันที่ 30 ก.ค. 2562 หรือ 2 สัปดาห์หลังตั้งรัฐบาลเสร็จ มีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)" 15 คน โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานผู้มีอำนาจและหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม 

มี 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3 

ส่วนคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประกอบด้วย รมว.คลัง, รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.คมนาคม, รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.พลังงาน, รมว.มหาดไทย, รมว.แรงงาน, รมว.อุตสาหกรรม และ 'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' เป็นกรรมการและเลขานุการ

ส่วนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 

เป๋าตัง-ชิมช้อปใช้

ครม.เศรษฐกิจนัดแรกเข็น 'ชิมช้อปใช้-ดูแลผู้ประสบภัยแล้ง'

การประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรก วันที่ 16 ส.ค. 2562 ออก 3 มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ 

  • 1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยแล้งผ่านการลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี, ปล่อยกู้ฉุกเฉินไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก, สนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวนาปีฤดูกาล 2562/2563 
  • 2) มาตรการกระตุ้นการบริโภค ผ่านโครงการ 'ชิมช้อปใช้' การลงทุนภายในประเทศผ่านการให้ 'ธนาคารออมสิน-ธนาคารกรุงไทย' ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีวงเงิน 100,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก พร้อมกับให้ 'ออมสิน-ธอส.' ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รวมกัน 52,000 ล้านบาท
  • 3) มาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย ผ่านการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มจากเดิมอีก 500 บาทสำหรับผู้ถือบัตรทั่วไป เพิ่มอีก 500 บาทให้ผู้สูงวัย และอีก 300 บาทสำหรับดูแลเด็กแรกเกิด เป็นเวลา 2 เดือน

พร้อมกับปักธงว่ามาตรการเหล่านี้ต้องพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้จีดีพีปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ท่ามกลางความอ่อนแอของการค้าระหว่างประเทศที่ฉุดภาคส่งออกไทยอยู่ 

ในตอนนั้น ทั้ง 'อุตตม สาวนายน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ 'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ต่างพูดตรงกันว่า มาตรการเหล่านี้ มีเป้าหมายให้จีดีพีปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3

"ที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ในปีนี้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ระหว่างร้อยละ 2.7 - 3.2 และมีค่ากลางร้อยละ 3" กอบศักดิ์ กล่าวในเวลานั้น

ประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เศรษฐกิจทยอย 'ต่ำลง'

หลังจากนั้น ก็มีการประชุมครม. เศรษฐกิจเกิดขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 6 ก.ย. , 20 ก.ย., 11 ต.ค. , 29 ต.ค. , 1พ.ย. และ 22 พ.ย. รวมทิ้งสิ้น 7 ครั้ง ในระยะเวลา 5 เดือนหลังตั้งรัฐบาล ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่นับวัน 'สาละวันเตี้ยลง' จากต้นปีตั้งเป้าอัตราการขยายตัวปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 3.8 ถึงวันนี้ต้องรับสภาพปรับเป้าจีดีพีปีนี้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6  

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/2562 เติบโตเพียงร้อยละ 2.4 ส่วนส่งออกไม่โต (ร้อยละ 0.0) มูลค่าการนำเข้าติดลบร้อยละ 6.8

จึงจำเป็นต้องปรับประมาณจีดีพีทั้งปีเหลือโตเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งนับว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี รวมทั้งส่งออกที่ทรุดหนัก คาดว่าทั้งปีจะติดลบร้อยละ 2 ตามการแถลงข่าวโดย 'ทศพร ศิริสัมพันธ์' เลขาธิการ สศช. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

แล้วเมื่อมองไปถึงปีหน้า สศช. ประเมินว่า จีดีพีปี 2563 จะโตที่ร้อยละ 2.7-3.7 ค่ากลางที่ร้อยละ 3.2 ส่วนส่งออกจะพลิกมาเป็นบวกที่ร้อยละ 2.3 พร้อมกับความหวังผ่านการคาดการณ์ว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.5 การลงทุนภาคเอกชนโตร้อยละ 4.2 การบริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 3.7 และการใช้จ่ายภาครัฐโตร้อยละ 2.6 ... นั่นคือความหวังบนฐานการคำนวณเศรษฐมิติของหน่วยงานภาครัฐ

อุตตม-กระตุ้นเศรษฐกิจ-สินเชื่อบ้าน

5 เดือน ประชุม ครม.เศรษฐกิจ 7 ครั้ง ยิ่งนานวัน ยิ่งพบความซบเซา

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่กว่าที่คาด แม้แต่คนในฝั่งรัฐบาลยังต้องยอมจำนนกับตัวเลขและดัชนีชี้วัดทุกตัวทุกสถาบันที่ปรากฎออกมา ยิ่งตอกย้ำการ 'บริหารประเทศบริหารเศรษฐกิจ' ภายใต้รัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ และ 3 รองนายกรัฐมนตรีที่ควบคุมกำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ 

ไม่ว่าจะเป็น 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกฯ ที่ตอนนี้อำนาจคุมเกมเศรษฐกิจลดลงจากรัฐบาลก่อน เคยได้ดูแล 5-6 กระทรวง ตอนนี้เหลือที่คุมได้จริง 1 กระทรวง (คลัง) และพอคุยกันได้ 2 กระทรวง (พลังงาน-อุตสาหกรรม) ขณะที่อำนาจการทำมาหาได้ทั้งในและต่างประเทศที่สำคัญ อย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในมือ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ส่วน 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ดูแลกระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา  

จนนำมาสู่ข้อสังเกตว่าการทำงานใน ครม.เศรษฐกิจ ที่มี 3 รองนายกฯ 15 รัฐมนตรี จาก 5 พรรคการเมือง (พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, รวมพลังประชาชาติไทย และชาติไทยพัฒนา) ได้ทำงานสอดประสานกันได้จริงหรือไม่ เมื่อมีกระแสข่าวการจัดคิวประชุม ครม.เศรษฐกิจ ไม่ลงตัวเกือบทุกครั้ง หรือกรณี 'รองนายกฯ สมคิด' ไปพูดที่กระทรวงการคลังเมื่อ 25 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแต่เดิมมี 4 ขา แต่ขณะนี้เหลือแค่ขาเดียว (คลัง) จะให้ทำอย่างไร" 

ดันทุกทางกู้เศรษฐกิจ เติมกำลังซื้อ-หนุนท่องเที่ยวเอสเอ็มอี-เข็นลงทุน

ยิ่งเมื่อย้อนดูมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ออกมาในแต่ละครั้งของการประชุมครม. เศรษฐกิจ ที่ผ่านมา  

  • 16 ส.ค. 2562 - เติมกำลังซื้อประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อย ช่วยเกษตรกร-เอสเอ็มอีประสบภัยแล้ง อสังหาริมทรัพย์
  • 6 ก.ย. 2562 - อนุมัติแพคเกจ Thailand Plus กระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน 7 ด้าน
  • 20 ก.ย. 2562 - ปลดล็อก 44 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม
  • 11 ต.ค. 2562 - อนุมัติ 16 กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
  • 29 ต.ค. 2562 -นัดด่วนถกปัญหาสหรัฐฯ มีคำสั่งยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ในต้นเดือนเม.ย. 2563
  • 1 พ.ย. 2562 - อนุมัติ 13 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
  • 22 พ.ย. 2562-ไม่มีมาตรการใหม่

แต่ในการประชุม ครม. ชุดใหญ่ วันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ครม.กลับมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก, มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า การประชุมครม. 7 ครั้งที่ผ่านมา มีมาตรการสำหรับปลุกกำลังซื้อระยะสั้น หนุนภาคท่องเที่ยว ช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ ช่วยเหลือเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เข็นการลงทุนขนาดใหญ่แล้ว 

แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ คือ 'ภาคส่งออกที่ทรุดตัว" ตัวเลขส่งออก 10 เดือน ติดลบร้อยละ 2.4 ไปแล้ว ทั้งที่ภาคส่งออกมีสัดส่วนใหญ่สุดในจีดีพีถึงร้อยละ 60-70 มีการจ้างงานหลายแสนหลายล้านคน ถึงวันนี้ก็ยังคงไม่มีชุดมาตรการใดๆ ออกมาจาก ครม. เศรษฐกิจ นอกจากการออกไปโรดโชว์ต่างประเทศของรองนายกฯ จุรินทร์ ที่นั่งควบตำแหน่งรมว.พาณิชย์ เพื่อนำข้าว, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และผลไม้ไทย ไปขายในทริปตุรกี, อินเดีย, จีน, เยอรมนี ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา 

จนดูเหมือนทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่ 'ทีม' เป็นใครใคร่ทำอะไรก็ทำกันไป ต่างคนต่างทำ ต่างกระทรวงก็ต่างสร้างดาวคนละดวง จนบางคนตัดพ้อว่าเศรษฐกิจวิ่ง 'ขาเดียว' 

ทั้งที่ ต้องยอมรับว่านโยบายหาเสียงที่จะดูแลปากท้องประชาชน เช่น เรื่องประกันรายได้พืชผลการเกษตรนั้น ขณะนี้รัฐมนตรีในฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ขับดันผ่านมติ ครม. ออกมาใช้ ตั้งวงเงินจ่ายให้เกษตรกรครบ 4 พืชแล้ว ทั้งปาล์ม, ข้าว, ยาง และมันสำปะหลัง 

แต่นโยบายเช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทต่อวัน ตามที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ส่วนอำนาจและการผลักดันอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งมี 'มรว.จตุมงคล โสณกุล' รมว.แรงงานจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ดูแลอยู่ ยังไม่มีผลใดๆ ยิ่งในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งทำให้ข้อทักท้วงเพื่อให้ชะลอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของนายจ้างมีน้ำหนักมากขึ้น  

แม้แต่นโยบายการลดภาษีร้อยละ 10 ในแต่ละขั้นภาษีที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ถึงวันนี้ทั้งที่มี 'อุตตม สาวนายน' หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่งเป็นเจ้ากระทรวงการคลัง ผู้กุมกรมสรรพากร ถึงวันนี้ก็ 'ปิดปากเงียบ' กับนโยบายนี้ 

มองไปทางไหน ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยก็มีแต่ตัวเลขที่ถอยหลังลง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ต่างชี้ไปในทาง 'ขาลง' จน ครม.เศรษฐกิจ ที่มี 'พล.อ.ประยุทธ์' นั่งหัวโต๊ะ มี 3 รองนายกฯ ประกบนั้น เป็น 'ทีมเศรษฐกิจ' ที่ยังทำงานไม่เป็น 'ทีม' ท่ามกลางความบอบช้ำของประชาชน ตั้งแต่รากหญ้า -ชนชั้นกลาง-นักลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :