ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกเสี่ยงติดลบ เงินบาทแข็ง และการรอคอยค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เป็นโจทย์เศรษฐกิจที่ 9 รมว. 7 รมช. ใน 9 กระทรวงเศรษฐกิจต้องแบกรับ เมื่อนโยบายหาเสียงของ 4 พรรคต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มต้นรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 กับปัญหาเศรษฐกิจที่รอการแก้ไขและเข็นมาตรการออกมาดูแลประชาชน ทั้งชาวนาชาวสวนชาวไร่ ที่ประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ผู้ใช้แรงงานที่รอคอยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจส่งออกที่ยังต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินผันผวนและตอนนี้บาทแข็งค่า ทำให้รายได้จากต่างประเทศที่เคยได้รับลดลง รวมถึงสถานการณ์แล้งในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ปัญหาปากท้องของประชาชน คนค้าขายที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ส่งออกทรุด การบริโภคในประเทศนิ่ง คนไม่กล้าใช้จ่าย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไต่ลงติดต่อกันมากครึ่งปี รวมถึงเม็ดเงินลงทุน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ที่กำลังต้องเผชิญกับความชะงักงัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จะออกมาล่าช้ากว่าปกติไปถึง 3 เดือน เป็นปัญหาลูกโซ่ ส่งต่อกระทบกันเป็นทอดๆ ในระบบเศรษฐกิจ

สะท้อนออกมาที่การปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี 2563 ที่หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพี จากปลายปีที่ผ่านมาคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตระดับร้อยละ 3.3-4.1 แต่ตอนนี้ เป็นสาละวันเตี้ยลงมาอยู่ที่ช่วงร้อยละ 3.1-3.8 ยิ่งถ้ามองที่ภาคส่งออก ที่ถูกเหวี่ยงด้วยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งเห็นภาพความน่าประหวั่นพรั่นพรึง เมื่อหลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจระบุว่า ส่งออกปีนี้มีความเสี่ยง "ติดลบ" และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ภายใน 1 ปีมีโอกาสที่คนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจะ "ตกงาน" 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เผยความสัมพันธ์ของทั้งภาคส่งออกและแรงงานว่า มีข้อมูลในอดีตชี้ว่า การเติบโตของการส่งออกมีความสัมพันธ์กับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาในการส่งผลกระทบประมาณ 1 ปี ดังนั้นในเชิงลึกแล้วหากการส่งออกลดลง จะมีผลไปถึงการจ้างงานในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการได้

สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในทุกกระทรวงภายในรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 

ขณะที่ วันนี้ (18 ก.ค.) รัฐมนตรีหลายกระทรวงเข้าทำงานวันแรก พร้อมพบกับผู้บริหารในกระทรวงที่ดูแล เพื่อให้นโยบายและรับทราบรับฟังงานที่ต้องทำ ส่วนในสัปดาห์หน้า (25-27 ก.ค.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

ในวันเริ่มต้นการทำงานของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 9 กระทรวง 9 รมว. 7 รมช. และภารกิจกอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการฯ มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 

เช้าวันนี้ (18 ก.ค.) ทั้ง 2 คนจะเข้าทำงานวันแรกพร้อมพบกับผู้บริหารกระทรวง ซึ่ง 2 กระทรวงนี้มีโจทย์เศรษฐกิจที่สำคัญรออยู่ อาทิ ราคาข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย ที่เกษตรกรและผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รอคอยความชัดเจนของมาตรการช่วยเหลือ หลังจากพรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง จะเข้ามาดูแลราคาพืชผลการเกษตรด้วยนโยบาย "ประกันรายได้เกษตรกร โดยไม่แทรกแซงกลไกตลาด"  

ส่วนที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีรัฐมนตรีว่าการฯ มาจากพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนายพิพัฒน์ รัฐกิจประการ ก็จะเข้ากระทรวงแต่เช้าเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง และพบปะหารือผู้บริหารกระทรวง 

โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม นโยบายไฮไลท์ด้านคมนาคมคือ ทำให้แกร็บและแอปพลิเคชั่นเรียกรถถูกกฎหมาย ซึ่งต้องจับตาดูว่าในทางปฏิบัติจะทำได้มากน้อยอย่างไร และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออาชีพผู้ขับรถโดยสารสาธารณะรับจ้างในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสร้างปมความขัดแย้งมาตลอดได้อย่างไร

ขณะที่โจทย์ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และความปลอดภัยของการเที่ยวเมืองไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยิ่งในเวลาที่การหารายได้จากการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังเผชิญปัญหาจากปัจจัยระดับโลก ภาคท่องเที่ยวจะเป็นอีกตัวช่วยที่จะหารายได้ สร้างงาน สร้างเงินให้กับประเทศและผู้คนในอุตสาหกรรม เมื่อพรรคภูมิใจไทยชูนโยบายปลดล็อกกฎหมายให้ธุรกิจโฮมสเตทอยู่ได้ และมี 'บุรีรัมย์โมเดล' เป็นต้นแบบ

มาที่ฟากรัฐมนตรีจากพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐที่คุม 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ชูนโยบายไว้อย่างละเอียดลงลึกระดับการปฏิบัติ หลังจากนี้คือการพิสูจน์ว่า นโยบายที่วาดหวังไว้นั้น เมื่อถึงเวลาต้องทำจริงๆ จะเข็นออกมาให้ได้ประสิทธิภาพประสิทธิผลเพียงใด

ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะเพิ่มให้กับคนที่ยังตกขบวน การลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาลำดับขั้นละร้อยละ 10 การยกเว้นภาษีสำหรับผู้ค้าออนไลน์ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ 2 ปีแรก การยกเว้นภาษีให้ผู้เรียนจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานในช่วง 5 ปีแรก ยังไม่รวมกับการต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเข้ามากอบกู้ความนิ่งงันของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ภารกิจบนบ่าของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ จากพรรคเดียวกันเป็นรัฐมนตรีช่วย จึงยิ่งเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งความหวัง และเป็นจุดที่พรรคฝ่ายค้านพร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงาน

ส่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรม เหมือนเป็นเผือกร้อนบนมือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กลับเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงอีกครั้งในรอบ 14 ปี หลังจากเคยดำรงตำแหน่งนี้ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ช่วงปี 2545-2548 โดยเผือกร้อนที่ว่า คือ กรณีปิดเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร ที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการยื่นฟ้องในอนุญาโตตุลาการ และหากฝั่งเอกชนชนะรัฐบาลไทยอาจต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 30,000 ล้านบาท

ด้านกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการฯ จะเข้าทำงานวันนี้และมีฤกษ์ถวายพวงมาลัยและเครื่องสักการะพระพรหมที่กระทรวงพลังงานในเวลา 15.39 น. ขณะที่นโยบายด้านพลังงานที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ เช่น นำรถเก่ามาแลกรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และไม่ปล่อยมลพิษ หรือการมีหัวจ่ายน้ำมัน B20 ในทุกสถานีเติมน้ำมัน จะเป็นจริงขนาดไหนและมีแนวปฏิบัติที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อพืชพลังงานอย่างไร เป็นเรื่องต้องติดตามต่อไป

ส่วนนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ที่มีนโยบาย "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ของพลังประชารัฐนั้นจะสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศไทยเศรษฐกิจไทยได้ดั่งฝันหรือไม่ ในเวลาที่การทำงานของราชการไทยยังไม่ได้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ และกฎระเบียบหยุมหยิมในระบบราชการยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสร้างสรรค์

รวมถึงประเด็นร้อนแรงหลังการตั้งรัฐบาลอย่างเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน ปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท" ที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ และตอนนี้มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย และเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีข้อมูลเศรษฐกิจไทยทั้งฝั่งดีมานด์ซัพพลายแน่นปึ๊ก ไปคุมกระทรวงแรงงาน 

วานนี้ (17 ก.ค.) รัฐมนตรีแรงงานคนใหม่เพิ่งบอกว่า "แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก ไม่สามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานเกิดความร่ำรวยได้ ส่วนตัวอยากให้ผู้ใช้แรงงานได้ขึ้นค่าแรง แต่เนื่องจากมีผลกระทบต่อนายจ้างมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค จึงต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อให้เดินหน้าไปตามกลไกการขึ้นค่าแรงมีอยู่แล้ว" 

ดังนั้น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงยังต้องดูกันต่อไปเช่นกัน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :