ไม่บ่อยนักที่จะเห็นที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UNGA ลงมติประณามการใช้ความรุนแรงของกองทัพชาติใดชาติหนึ่งในการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสันติอย่างตรงไปตรงมา และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกยุติการขายอาวุธให้แก่รัฐบาลทหาร เพื่อตอบโต้การทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา นำโดยพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายน์ ที่ยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อ้างว่ามีการโกงเกิดขึ้น
สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ จากมติที่ประชุมฯ อาทิ การเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งรวมถึง ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และ ประธานาธิบดี วิน มินต์ รวมทั้งเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพเจตจำนงค์ของประชาชนภายใต้ผลการเลือกตั้งซึ่งพรรค NLD ได้รับชัยชนะไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตาม 'ฉันทามติ 5 ข้อ' ของสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เคยบรรลุไว้จากที่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี จ่อ โม ทุน ผู้แทนเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน เผยว่า แม้ตนจะยกมือให้การสนับสนุนมติดังกล่าวต่อวิกฤตการณ์เมียนมา แต่ยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังที่สหประชาชาติใช้เวลาสามเดือนกว่าจะผ่านมตินี้ที่ถูกลดทอนความเข้มข้นของเนื้อหาลงอย่างมากจากร่างเดิม เพราะไม่ได้มีข้อความที่ระบุถึงมาตรการคว่ำบาตรการขายอาวุธอย่างเต็มรูปแบบให้แก่เมียนมาอย่างชัดเจน (full arms embargo) แต่ระบุไว้เพียง "ป้องกันไม่ให้ยุทโธปกรณ์ไหลเข้าสู่เมียนมา" (prevent the flow of arms into Myanmar)
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถกกันนอกรอบโดยชาติสมาชิกอาเซียนที่ต้องการแก้ไขทบทวนถ้อยคำให้เบาลง เพื่อเปิดทางให้มติดังกล่าวเป็นที่ยอมรับจากทุกชาติที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้การยึดมั่นในหลักการบรรลุฉันทามติของอาเซียน
ทั้งนี้ แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ข้อมติของที่ประชุมฯในครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่ง
คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กล่าวต่อที่ประชุมฯภายหลังการลงมติว่า "ความเสี่ยงที่สงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ในเมียนมาจะปะทุเป็นเรื่องจริง เวลาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ยึดอำนาจโดยกองทัพกลับมากำลังน้อยลงเรื่อยๆ"
โอลอฟ สคูก หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำสหประชาชาติ ระบุว่า "มติดังกล่าวเป็นการส่งสารที่ทรงพลังว่าจะไม่สร้างความชอบธรรมให้การทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เป็นการประนามการใช้กำลังและความรุนแรงต่อประชาชนในชาติ และแสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกของของกองทัพเมียนมาในสายตาประชาคมโลก"
นอกจากนี้ ภายใต้มติดังกล่าวของที่ประชุมฯ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ยังเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า
"เราไม่อาจอยู่ในโลกที่การทำรัฐประหารเป็นเรื่องปกติได้ มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง"
สำหรับการลงมติของที่ประชุมฯ ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก UN 193 ประเทศนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) ในนิวยอร์ก โดยข้อมติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก 119 ประเทศ มีเพียง 1 ประเทศที่ลงมติคัดค้านคือเบลารุส และมีอีก 36 ประเทศงดออกเสียง
โดยบางส่วนของชาติที่งดออกเสียงได้ให้เหตุผลว่าวิกฤตดังกล่าวเป็นประเด็นภายในประเทศของเมียนมา ในขณะที่บางประเทศเห็นว่าข้อมติไม่ได้ระบุถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนต้องลี้ภัยความรุนแรงไปอยู่ในประเทศข้างเคียงแต่อย่างใด
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในบรรดาประเทศที่งดออกเสียงนั้น นอกจากจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญและประเทศหลักที่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา จากภาพจะเห็นได้ว่า ยังมีชาติสมาชิกอาเซียนอย่างไทย ลาว กัมพูชา และบรูไน ร่วมงดออกเสียงด้วย แม้ว่าจะเคยมีมติเห็นชอบในการแก้ไขถ้อยคำเรื่องมาตรการหยุดขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา หรือเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดประชุมผู้นำอาเซียนนัดพิเศษเพื่อหาทางออกให้วิกฤตการณ์เมียนมาดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น
ผู้เขียนมองว่า หากอาเซียนยังไม่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของกลไกวิถีอาเซียน (The ASEAN Way) ที่ว่าด้วย 'การไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน' (Non-Interference) ของชาติสมาชิกได้ ส่งผลให้บางชาติมีท่าทีนิ่งเฉย ไม่ตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคเท่าที่ควร
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ ความจริงใจของอาเซียนต่อการแสดงบทบาทผู้นำในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมานั้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน หรือว่า...วิกฤตศรัทธาอาเซียนจะเกินเยียวยาแล้ว?
อนึ่ง นับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ.จนถึงปัจจุบัน รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมา (AAPP) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 870 ราย และถูกจับกุมร่วม 6180 ราย จากการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่มา: Reuters, BBC, Aljazeera, VOA, United Nations, AAPP, E-International Relations