ไม่พบผลการค้นหา
ความรุนแรงในเมียนมา สะท้อนปัญหาและความท้าทายของ 'วิถีอาเซียน' ที่มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในกัน แล้วนานาชาติจะทำให้ 'มินอ่องหล่ายน์' หยุดเข่นฆ่าประชาชนได้สำเร็จหรือไม่ ?

บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ 'อาเซียน' มีกำหนดจัดประชุมหารือเป็นกรณีพิเศษในวันเสาร์ (24 เม.ย.) นี้ ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาเป็นการเฉพาะ แน่นอนว่าหัวคณะรัฐประหารของเมียนมาอย่าง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ตอบตกลงคำเชิญเดินทางไปเข้าร่วมประชุมนี้ด้วยตนเอง ส่วนไทยประเทศซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียจากสถานการณ์ในเมียนมามากที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจไม่ขอเดินทางไปร่วมการประชุมนัดพิเศษดังกล่าว โดยส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปหารือ

สองชาติที่เป็นหัวเรียวหัวแรงใหญ่ในการทำให้การหารือนัดพิเศษครั้งนี้เกิดขึ้นได้คือ อินโดนีเซีย ผู้ทำตัวเป็นกระสวยการทูตหาแนวทางแก้ไขวิกฤตเมียนมา ตั้งแต่ช่วงแรกๆ กับอีกชาติคือบรูไน ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ โดยการหารือครั้งนี้สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ จะทรงทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมด้วยพระองค์เอง การหารือนัดพิเศษครั้งนี้ ไม่เคยปรากฎมาก่อนในตลอดประวัติศาสตร์ 54 ปี ของอาเซียน โดยนับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนจะจัดการประชุมหารือในระดับผู้นำประเทศในประเด็นที่สถานการณ์อันน่ากังวลของชาติสมาชิกด้วยกันเอง

เมียนมา

ท่ามกลางสถานการณ์อันรุนแรงและไร้วี่แววทางออก การสู้รบที่ขยายตัวมากขึ้น รายงานประชาชนบริสุทธิ์ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตรายวัน ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมาเผยว่า นับตั้งแต่เหตุรัฐประหาร 1 ก.พ. ถึง 21 เม.ย. มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามแล้ว 739 ราย ถูกจับกุมคุมขังอีกกว่า 3,331 คน สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อทั้งอาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันพันธมิตรของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ของอองซาน ซูจี ได้จับมือและได้รับการสนับสนุนในการต่อต้านกองทัพเมียนมา จากบรรดากลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ในหลากหลายกลุ่ม แม้ว่ากลุ่มบุคคลระดับแกนนำของพรรคอย่างนางซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิ่นมินต์ ยังคงถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่อาจสกัดความพยายามในการต่อต้านคณะรัฐประหาร จากการก่อตั้ง 'รัฐบาลคู่ขนาน' หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (National Unity Government - NUG) เสมือนรัฐบาลเงาแต่มิวายถูกกองทัพประกาศว่าเป็นองค์กรผิดกฎหมาย

การประชุมนัดพิเศษของอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นหนึ่งในกลไกและเป็นกุญแจสำคัญที่หวังจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ในเพื่อนบ้านของไทยลงไปได้บ้าง ทว่าภายใต้กรอบกลไกอาเซียนนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เป็น "ข้อจำกัด" สำคัญคือแนวคิด 'วิถีอาเซียน' หรือ the ASEAN Way ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่บรรดาชาติสมาชิกยึดถือร่วมกัน บนสมมติฐานสำคัญหนึ่งที่ว่า ชาติสมาชิกจะไม่ก้าวก่ายปัญหากิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วยกัน

เมียนมา

ASEAN Way มีส่วนสำคัญอยู่สองประการคือ "การหารือและฉันทามติ" ( Consultation and Consensus) ด้วยหลักการนี้เองทำให้อาเซียนยังคงไม่แตกแยกและยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ข้อเสียของหลักการนี้คือ กว่าที่บรรดาชาติสมาชิกจะหารือและได้มติร่วมกันนั้น ช้าเกินไป จนบางครั้งกระบวนการอาจหยุดชะงัก หากประเทศใดประเทศซึ่งไม่เห็นชอบ แต่หากว่ามี Solutions หรือทางแก้ปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ทางเลือกนั้นต้องไม่สร้างผลกระทบหรือความแตกแยกในหมู่ชาติสมาชิกเช่นกัน

อีกประการคือ "การไม่เข้าไปแทรกแซง" (Non-interference) ส่วนนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดอยู่ในกฎบัตรอาเซียน โดยตอนหนึ่งระบุว่า "ชาติสมาชิกจะเคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซง ฉันทามติและเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย" นัยยะคือ ชาติสมาชิกอาเซียนจะเคารพกันซึ่งอธิปไตยระหว่างกัน แม้รูปแบบการปกครอง ผลประโยชน์และสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในด้วยกันเอง 

ด้วยสองเหตุผลข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์กันแบบหลวมๆ ของบรรดาชาติอาเซียน และความไม่ได้เป็นมิตรต่อกันอย่างสมบูรณ์คือเหตุผลหนึ่งที่อาเซียนต้องกำหนดหลักการข้อนี้ขึ้นมา ทุกวันนี้รัฐบาลหรือผู้นำชาติสมาชิกแม้จะมีความเป็นมิตรต่อกัน แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้เป็นมิตรภาพอย่างสมบูรณ์ การแทรงแซงกิจการภายในยังคงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเช่นเดิม

หากย้อนกลับไปมองท่าทีของสมาชิกอาเซียนในแต่ละชาติ ล้วนมีทั้งออกมาประณามวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของกองทัพเมียนมา อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ ขณะที่บางชาติกลับนิ่งเฉยโดยแสดงจุดยืนว่าเป็นเรื่องกิจการภายใน ดั่งเช่นท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย แม้ว่าที่ผ่านมาอินโดนีเซียจะทำหน้าที่กระสวยการทูต เจรจาพูดคุยกับหลายฝ่ายตั้งแต่ผู้แทนคณะรัฐประหาร ไปจนถึงชาติมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน แต่ทว่าความร่วมมือกันของอาเซียนกลับน้อยมาก มีแค่เพียงถ้อยแถลงที่แสดงความกังวลกับการใช้ถ้อยคำทางการทูตที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น

เมียนมา

ดังนั้น คงเป็นการยากหากจะคาดหวังการตอบสนองเชิงรุกใดๆ จากมติที่ประชุมอาเซียน นอกเสียจากที่อาเซียนอาจกดดันให้มีการสอบสวนการดำเนินการของกองทัพเมียนมาที่ปราบปรามประชาชน ซึ่งอยู่บนพื้นที่ความพยายามควบคุมทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งทางตรงและทางลับ เพื่อเป็นการรักษาหน้าของชาติสมาชิกด้วยกัน ขณะเดียวกันมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายในการจัดตั้ง "คณะทำงานพิเศษ" ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ASEAN Troika, กลุ่มเพื่อนประธานอาเซียน (Friends of the Chair) หรือ ทูตพิเศษอาเซียน (Special Envoy) เพื่อประสานงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้เป็นการเฉพาะอย่างเร่งด่วน

นอกเหนือจากคณะทำงานพิเศษแล้ว องค์กรและนักเคลื่อนไหวหลายภาคส่วนต่างเรียกร้องเช่นกันว่า ให้นำคณะผู้แทนจาก"รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" พันธมิตรของพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงต่อกองทัพ ร่วมหารือในการประชุมนัดพิเศษครั้งนี้ด้วย โม ซอว์ อู (Moe Zaw Oo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเงาเอ็นยูจี กล่าวกับรอยเตอร์ ว่า อาเซียนแทบไม่ได้ติดต่อพวกเขาเลย ในการเชิญให้เข้าร่วมหารือดังกล่าว

เมียนมา

"หากอาเซียนต้องการเป็นตัวกลางช่วยแก้ไขสถานการณ์เมียนมา พวกเขาจะไม่ประสบความเร็จใดๆ หากไม่ปรึกษาหรือเชิญผู้แทนจาก NUG ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างชอบธรรม เข้าร่วมหารือ" โม ซอว์ อู กล่าว

ทั้งนี้ ไม่ว่าที่ประชุมอาเซียนจะมีแนวทางหรือฉันทามติในรูปแบบใดออกมา อย่าให้การประชุมสุดนัดพิเศษครั้งนี้ต้องเสียเปล่า ไม่มีเหตุใดอันชอบธรรมใดๆ สำหรับรัฐบาลทหารที่หันปลายกระบอกปืนยิงใส่พลเมืองของตน การประชุมนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของบรรดาชาติสมาชิก ภายใต้แนวทาง "วิถีอาเซียน" อย่างจริงจัง อาเซียนควรรอบคอบในประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้ และควรอย่างยิ่งที่ต้องเชิญรัฐบาลเอ็นยูจีเข้าร่วมหารือด้วย ดังที่วลีในบรรทัดแรกของกฎบัตรอาเซียนที่ว่า "We, THE PEOPLES of Member States of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)" ดังนั้น หวังให้การหารือนัดพิเศษนี้ ชาติอาเซียนควรมีสิ่งหนึ่งที่ยึดถือร่วมกันคือ "Let's the people first"