ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำและผู้แทนชาติอาเซียนร่วมการประชุมนัดพิเศษ ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน อินโดนีเซีย บรรลุฉันทามติ 5 ข้อ 'ปล่อยผู้นำพลเรือน-หยุดฆ่าประชาชน'

ผู้นำและผู้แทนชาติอาเซียนร่วมการประชุมนัดพิเศษในวันที่ 24 เม.ย. 2564 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนทรงเป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือถึงทางออกในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงและการเข่นฆ่าประชาชนจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพเมียนมา

หลังการประชุมเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษสามารถบรรลุฉันทามติเบื้องต้นได้ 5 ประการ อันประกอบไปด้วย

ประการที่หนึ่ง ความรุนแรงในเมียนมาต้องยุติทันที และทุกภาคส่วนต้องหยุดยั้งการกระทำอย่างถึงที่สุด

ประการที่สอง จะต้องมีการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่ทางออกที่สันติโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ประการที่สาม จะต้องมีทูตพิเศษประจำอาเซียนทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยประสานกระบวนการเจรจา โดยมีเลขาธิการอาเซียนคอยให้ความช่วยเหลือ

ประการที่สี่ อาเซียนจะต้องส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมียนมา ผ่านทางศูนย์ประสานงานสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA Center ซึ่งตั้งอยู่ในอินโดนีเซีย

ประการที่ห้า ทูตพิเศษและคณะผู้แทนจะต้องเดินทางเข้าไปยังเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

AFP - ประชุมอาเซียน

การหารือนัดพิเศษครั้งนี้ ไม่เคยปรากฎมาก่อนในตลอดประวัติศาสตร์ 54 ปี ของอาเซียน โดยนับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนได้จัดการประชุมหารือในระดับผู้นำประเทศในประเด็นที่ ‘สถานการณ์อันน่ากังวลเป็นกรณีของชาติสมาชิกด้วยกันเอง’ ซึ่งในการประชุมนักพิเศษนี้มี พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้นำสภาบริหารแห่งเมียนมาเข้าร่วมด้วย

การประชุมดำเนินไปอย่างรัดกุมภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัย และดำเนินการแบบปิดโดยไม่มีสื่อมวลชนได้รับอนุญาตเข้าร่วมรับฟัง โดยระหว่างการประชุมมีกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันหน้าบริเวณสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้ประชาชน


ผู้นำอินโดนีเซีย-มาเลเซีย แสดงจุดยืนกดดันชัดเจน

ภายในที่ประชุม มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แสดงท่าทีจริงจังในการเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนและร้องขอให้ปล่อยตัว อองซาน ซูจี และนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุม

เช่นเดียวกับ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่แสดงจุดยืนในการปล่อยตัวผู้นำพลเรือน การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ชาวเมียนมา และการส่งทูตพิเศษเข้าประสานงาน

AFP - ประชุมอาเซียน


ผู้แทนไทย เสนอตั้ง ‘กลุ่มเพื่อนประธาน’ และแนวทาง ‘4D’

‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในฐานะผู้แทนพิเศษนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความระบุว่าเขาได้เข้าร่วมการประชุมพิเศษอาเซียนและได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ‘กลุ่มเพื่อนประธาน’ (Friends of the Chair) เพื่อทำการประสานงานการหาหาทางออกให้กับวิกฤตเมียนม่า และมีการเสนอแนวทางที่เรียกว่า ‘4D’ : De-escalating Violence (ลดระดับความรุนแรง), Delivering Humanitarian Assistance (ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม), Discharge of Detainees (ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง), และ Dialogue (การเจรจา)

นับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ.จนถึงปัจจุบัน มีรายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมาว่ามีผู้เสียชีวิตไปไม่ต่ำว่า 739 ราย และถูกจับมากกว่า 3,331 คน


โจ้ ชลวิศว์ วงศ์ศรีวอ
พิธีกร - ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
39Article
1Video
3Blog