ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move นำโดย จำนงค์ หนูพันธ์ ประธาน P-move ที่ปักหลักชุมนุม "พีมูฟทวงสิทธิ สร้างอำนาจกำหนดชีวิตประชาชน" บริเวณด้านหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประจำประเทศ เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งขบวนเวลา 13.00น. ใช้เส้นทางถนนกรุงเกษม สู่ถนนนครสวรรค์ และ ถนนพิษณุโลก ทางแยกนางเลิ้ง มุ่งสู่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ แยกพาณิชยการ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 12 ข้อถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของ P-move
โดยมี มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือ พร้อมย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงสํานักนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาประชาชนและจะเร่งรัดข้อร้องเรียนของ P-move สู่การแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนมายื่นเรื่องร้องเรียนจำนวนมากและรัฐบาลก็เร่งรีบแก้ไขให้ ซึ่งตนจะนำเรื่องส่งผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่ต้องได้รับความชัดเจนและมีหลักประกัน 12 ข้อ ประกอบด้วย
1.) ยกระดับ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นการกำกับดูแลบริหารจัดการที่ดินโดยทั่วไป ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และขอให้ คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก P-move ที่เสนอโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี
2.) เร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดิน ที่เกิดจากนโยบายรัฐและให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ ระหว่างรอการออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้
3.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน , พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 รวมทั้งยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่
4.) กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ซึ่งต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในส่วนที่ดิน รฟท.
5.) รัฐบาลต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร และต้องสนับสนุน “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
6.) ปฏิรูปที่ดินตามกลไกลธนาคารที่ดิน พัฒนากลไกในเข้าถึง ทั้งสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและเร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงาน
7.) ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ P-move ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้านและปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้
8.) ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร และคณะทำงานเกี่ยวกับโฉนดชุมชน ภายใต้ คทช. และให้เร่งรัดจัดการประชุมทั้ง 2 คณะทำงานโดยด่วน
9.) ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ
10.) รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยมี แนวทางที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ที่ดินสาธารณประโยชน์, ที่ดินรถไฟ ,ที่ราชพัสดุ ,ที่ดินในเขตป่า หรือที่ สปก.และอื่นๆ
11.) แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553
12.) ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี และให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน เยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอยอีก 10 คน
โดยข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 12 ข้อจะต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจน และต้องนำเรื่องเข้า ครม.ให้มีมติเห็นชอบทั้งหมด ซึ่งตัวแทน remove ต้องการให้พลเอกประวิตร หรือผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ลงมาพูดคุย เปิดเวทีหรือห้องประชุมในการเจรจาเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา ในวันที่ 25 มกราคมนี้ที่จะมีการประชุม ครม. โดย p-move จะมาติดตามทุกวันนับจากนี้ เพราะรัฐบาลบ่ายเบี่ยงการแก้ไขปัญหา และครั้งนี้ P-move ปฏิเสธการประชุมทางออนไลน์หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพราะที่ผ่านมาการประชุมออนไลน์ไม่สามารถส่งเสียงเสียงผู้มีอำนาจจนนำสู่การแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้นต้องมีตัวแทนมาพูดคุยกันต่อหน้าเท่านั้น
หลังจากยื่นหนังสือเสร็จสิ้น P-move ได้กลับไปปักหลักที่ 'หมู่บ้านพีมูฟ' พร้อมมีเวทีล้อมวงคุย "ทำไมพีมูฟต้องมาชุมนุม" ซึ่งจะเป็นการให้ตัวแทนแต่ละเครือข่ายสะท้อนปัญหาและย้ำข้อเรียกร้องตามกำหนดการ