ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอังกฤษประเมินสถานการณ์ในเมียนมา "มาไกลเกินหวนกลับ" คาดแนวโน้ม "บานปลายนองเลือด" ส่วนประเทศภายนอกมากสุดทำได้แค่ "คว่ำบาตร" - ด้านกองทัพสั่งยุบสำนักงานสันติภาพของซูจี

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรที่ประเมินสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา โดยบางส่วนของรายงานประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมของเมียนมา คาดการณ์ว่า พรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี มีความเสียงแตกหัก จากการที่กองทัพควบคุมตัวอองซาน ซูจี รวมถึงสมาชิกพรรคคนสำคัญของพรรค อย่างอดีตประธานาธิบดีวิ่นมินต์ 

ทั้งนี้ การขาดเสถียรภาพภายในพรรคเอ็นแอลดี แน่นอนว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับกองทัพ ซึ่งสนับสนุนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ( ยูเอสดีพี ) ในการเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ที่ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด "ให้คำมั่น" ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี ของการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

กระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักรยังมองว่า การประท้วงของชาวเมียนมาในหลายภาคส่วนที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากองทัพจะออกมาใช้กฎอัยการศึกเคอร์ฟิวในพื้นที่เมืองใหญ่และห้ามรวมตัวเกิน 5 คนนั้น อาจส่งผลให้เกิดการนองเลือดดังเช่นการเคลื่อนทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี 2531 และ 2550 ที่จบด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงของฝ่ายรัฐ

หน่วยงานการทูตอังกฤษยังมองอีกว่า เหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมาครั้งล่าสุดนั้นเป็นการกระทำของกองทัพที่ไม่อาจหวนกลับได้อีก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีเป้าประสงค์จากรัฐประหารในการพยายามบดขยี้พรรคเอ็นแอลดี เพื่อให้ตนเองสืบทอดอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายกองทัพ แม้ว่าผู้นำกองทัพเมียนมาจะ "ให้คำมั่น" จัดเลือกตั้งเมื่อครบกำหนด 1 ปี ของสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน จีนจะกลายเป็นผู้เล่นที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนี้ ท่ามกลางท่าทีของบรรดาชาติตะวันตก อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย ซึ่งทำได้แค่ออกแถลงการณ์คว่ำบาตรเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายงานข่าวนี้ออกมา แต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน รวมทั้งโดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยท่าทีของสหราชอาณาจักรหลังเกิดเหตุรัฐประหาร คือการออกแถลงการณ์ประณามกองทัพที่ยึดอำนาจพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง


ยุบสำนักงานสันติภาพซูจี 

ขณะเดียวกันสัญญาณของกองทัพที่หวังบดขยี้พรรคของอองซาน ซูจี ตามรายงานวิเคราะห์ของหน่วยงานต่างประเทศอังกฤษนั้น เริ่มชัดเจนขึ้น หลังจากที่กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์เรื่องการยุบ "สำนักงานประนีประนอมและสันติภาพแห่งชาติ" หน่วยงานกลไกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ซึ่งก่อตั้งในสมัยรัฐบาลพลเรือนซูจี

แม้ว่ากองทัพไม่ได้ให้เหตุผลในการยุบสำนักงานดังกล่าว โดยระบุเพียงว่าได้แจ้งไปยังคู่เจรจาทุกกลุ่มแล้ว โดยกระบวนการเจรจาหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับกองทัพเท่านั้น โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานโดยตรงของกองทัพ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากองทัพได้เข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่พรรคเอ็นแอลดีในนครย่างกุ้งจนได้รับความเสียหาย 

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นเพียงไม่นานหลัง สหประชาชาติประจำเมียนมา ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้กำลังเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ 

ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 9 ก.พ. ที่ตำรวจเมียนมาใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนนั้น สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมาเพิ่งรายงานข่าวถึงเหตุชุมนุมประท้วงเป็นครั้งแรกว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์ที่ซึ่งผู้ประท้วง "ใช้ความรุนแรง" นับเป็นการรายงานข่าวการณ์ชุมนุมครั้งแรกผ่านสื่อหลักของรัฐบาล จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เคยมีการรายงานเหตุการณ์เคลื่อนไหวประท้วงรัฐประหารมาก่อน

ที่มา: MyanmarTimes