13 มีนาคมของทุกปี คือ 'วันช้างไทย' โบว์ - เบญจศิริ วัฒนา ให้ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ติดตามชีวิตเธอไปที่ศูนย์บริบาลช้างไทย จ.เชียงใหม่ โดยเธอได้เล่าจุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อช้าง ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ได้ดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ และเห็นการทำงานของคุณหมอชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่ชอบเดินทางไปช่วยเหลือสัตว์ในประเทศต่างๆ วันหนึ่งคุณหมอท่านนั้นได้เดินทางมาช่วยเหลือช้างที่ประเทศไทย ณ ‘ศูนย์บริบาลช้างไทย’ (Elephant Nature Park) ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ทำให้รู้สึกตื่นเต้น และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือช้างที่นี่เช่นกัน หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อมาที่ศูนย์บริบาลช้างในเชียงใหม่ เพื่อมอบเงินบริจาคจากการทำงานในวงการบันเทิงจำนวนหนึ่งให้ และได้ทำความรู้จักกับ ‘เล็ก – แสงเดือน ชัยเลิศ’ นักอนุรักษ์ช้าง และผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้างไทยแห่งนี้
หลังจากที่โบว์ได้ก้าวเท้าเข้ามาที่ศูนย์บริบาลช้างไทย โดยมี เล็ก แสงเดือน เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช้างที่นี่ ซึ่งช้างแต่ละเชือกเป็นช้างที่ไม่สามารถทำงานให้กับคนได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการลากไม้ การเป็นช้างคนเร่ ช้างเดินถนน ซึ่งเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเธอเล่าเรื่องราวน่าเศร้าต่างๆ เกี่ยวกับช้างให้ฟังด้วย กลายเป็นการจุดประกายในใจของดาราสาวที่อยากจะเป็นช่องทางเล็กๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้เกี่ยวกับชีวิตของช้าง
บ้านหลังสุดท้ายของช้าง ผลักดัันประเด็น 'สวัสดิภาพสัตว์'
ศูนย์บริบาลช้างไทย จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น 'บ้านหลังสุดท้าย' ของช้าง โดยสถานที่แห่งนี้จะซื้อช้างที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้ว กล่าวคือ เป็นช้างป่วย ช้างพิการ โดนทำร้ายร่างกายและจิตใจ จะนำมารักษา และใช้ชีวิตที่นี่ตลอดไป ปัจจุบันมีช้าง 81 เชือกอยู่ในการดูแล ภายในศูนย์ช้างนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นอาสาสมัคร ทำงานให้กับช้าง และได้ใกล้ชิดช้าง โดยนโยบายของปางช้างที่นี่แตกต่างจากที่อื่นๆ คือไม่มีการใช้ตะขอ ไม่ล่ามโซ่ ไม่มีการขี่ช้าง หรือโชว์ช้าง แต่จะให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับช้างในแบบที่ช้างอยากเป็นและอยากทำเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 99 จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างจากที่มากันจากทุกมุมโลก มีคนไทยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องช้างทุกวันนี้ในประเทศไทย แม้เรื่องการซื้อขาย-ครอบครองงาช้าง, ช้างลากไม้ หรือเรื่องช้างเดินถนน จะมีน้อยลงแล้ว เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครอง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเรื่อง 'สวัสดิภาพสัตว์' การที่ช้างถูกทารุณกรรมอยู่ทุกวันนี้ ในอุตาหกรรมการท่องเที่ยวบางแห่ง ทำให้ช้างไม่ได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์ เทียบกับการใช้งาน
โบว์ เบญจศิริ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ว่า ควรจะมีเวลาให้ช้างได้พักบ้าง หรือมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงอยากให้ทุกคนตระหนัก เพราะช้างเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทุกคนยกย่องช้างเป็นสัตว์สูง เพราะช่วยเรารบมายาวนาน แต่สิ่งที่ช้างไทยถูกกระทำทุกวันนี้กลับตรงกันข้าม หากเป็นไปได้ก็อยากให้คนไทยบางกลุ่มปรับทัศนคติในเรื่องของการท่องเที่ยวที่เน้นเชิงอนุรักษ์มากกว่า ก็จะทำให้ช้างเหล่านี้ไม่ต้องถูกทรมานอีกต่อไป
ปัจจุบันมีปางช้างกว่า 30 แห่งในประเทศไทยที่ได้ปรับโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เหมือนกับที่ศูนย์บริบาลช้างไทยนี้แล้ว กล่าวคือไม่มีการขี่ ไม่มีการโชว์ ให้ช้างได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ
ช้างเปลี่ยนให้เราไม่เป็นคนที่นึกถึงแต่ตัวเอง ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่อยู่รอบข้างเรามากกว่า
การทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับช้างมากว่า 10 ปีนั้น ทำให้ โบว์ เบญจศิริ ได้ทำลายกำแพงที่เธอสร้างไว้เพื่อป้องกันตัวเองออกได้ชั่วคราวจากการทำงานในวงการบันเทิง เธอเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่อยู่กับช้างแล้วรู้สึกสบาย สบายทั้งกายสบายทั้งใจ ไม่ต้องแต่งหน้า (ถ้าไม่ต้องถ่ายรายการ) ไม่มีอะไรที่ต้องควบคุม เพราะความบริสุทธิ์ของสัตว์ ความจริงใจ และพลังดีๆ ที่สัตว์ส่งมาให้ เป็นสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ ทำให้เป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากการทำงานในวงการบันเทิงที่มีกำแพงเยอะ ต้องปกป้องตัวเอง ต้องแต่งตัว มีหลายชั้นหลายฉาก
“เราไม่ต้องคิดอะไรเลยอะ เรามีความสุขอยู่กับสัตว์ คือสัตว์เขาโกหกไม่ได้ เขาไม่ได้มีหลายชั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีหลายชั้นกับเขา ถูกไหม ก็จริงๆ ให้พูดความรู้สึก บางทีมันอาจจะบรรยายเป็นคำพูดได้ไม่ชัดเจนมาก แต่ก็อยากให้ทุกคนที่ได้ฟังโบว์วันนี้ แล้วก็ได้เห็นภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่ศูนย์บริบาลช้างแห่งนี้ ถ้ามีโอาสก็อยากจะเชิญมาสัมผัสด้วยตัวเอง” นักแสดงสาวกล่าว
ด้าน แสงเดือน ชัยเลิศ หรือ เล็ก ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้างไทย ได้เผยกับวอยซ์ออนไลน์ ว่า ที่แห่งนี้เธอก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของช้าง มาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว และเป็นปางช้างแห่งแรกในเอเชียที่ไม่มีการแสดงช้าง ขี่ช้าง โดยช้างส่วนใหญ่ที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่แต่ละตัวมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจเกินกว่าร้อยละ 80 เพราะบางตัวไม่ค่อยรู้ว่าเขาเป็นช้างเท่าไหร่เนื่องจากถูกใช้งานอย่างหนัก จึงต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษา
กล่าวได้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เดือนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายกว่า 6 ล้านบาท เพราะไม่ใช่มีแค่ช้าง แต่ยังมี วัว ควาย หมา แมว อีกหลายร้อยตัว ซึ่งรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร และเรียนรู้ชีวิตช้างที่นี่
ยืนหยัดเพื่อช้าง แม้โดนถากถางว่า 'โลกสวย'
สิ่งที่ทำให้ เล็ก แสงเดือน ยืนหยัดในการทำงานตรงนี้ได้ ก็คือความทุกข์ ความลำบากของช้าง เธอบอกว่า เมื่อได้เห็นความลำบากของช้างแล้ว ก็คิดว่าจะไม่ทำให้พวกเขากลับมาทุกข์อีก คือต้องมีอาหารเพียงพอ ให้อยู่ที่นี่โดยไม่มีใครรังแก หรือทุบตี ซึ่งที่นี่วางระบบทุกอย่างไว้อย่างดี ช้างต้องเป็นอิสระ ปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิต อยากจะเล่นก็ได้เล่น อยากว่ายน้ำก็ได้ว่าย มีแปลงหญ้าให้ อุดมสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม แรงสนับสนุนของศูนย์บริบาลฯ ส่วนใหญ่จะมาจากชาวต่างชาติ เนื่องจากคนไทยบางกลุ่มมองว่าสิ่งที่เธอทำเป็นการบั่นทอนขนบธรรมเนียมประเพณีหรือทำลายวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างแบบเดิมๆ ซึ่งมีการใช้โซ่ใช้ตะขอกับช้าง แต่แม้จะมีคนโจมตีตลอดก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้เดือดร้อนใคร และทำให้ช้างมีความสุข
เล็ก แสงเดือน ย้ำว่า "แค่ได้เห็นช้างยิ้มก็ดีใจแล้ว" แม้จะถูกรังแกจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนเองก็ยังมีมือมีเท้าที่จะลุกขึ้นมาสู้ มีปากที่จะสู้ ขณะที่ช้างถูกทารุณกรรม และพูดไม่ได้
นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า คนไทยมองช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เป็นสัตว์ชั้นสูง แต่ขณะเดียวกันคนไทยก็อยากจะเห็นช้างเต้นระบำ อยากเห็นช้างวาดรูป ในขณะที่ชาวต่างชาติมองว่าสิ่งที่ช้างไทยถูกกระทำ เช่น การแต่งตัวช้างเป็นซานต้าคลอส การนำช้างมาเตะฟุตบอล เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน และไม่สมเหตุสมผล อยากให้คนไทยเดินมาข้างหน้าและมองดูว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เขาไม่ได้มาท่องเที่ยวเพื่อเอาสัตว์มาสร้างเพื่อความบันเทิง ตอนนี้ทุกคนเลิกที่จะไปดูโลมาแสดงแล้ว แต่ประเทศไทยเรายังตื่นเต้นกับเรื่องนี้
“พี่อยากให้คนไทยหันมามองในสิ่งที่ว่าเรื่องของความมีเมตตา โลกเขาดูกันเรื่องของความรับผิดชอบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เราควรที่จะมามองให้ถูกต้อง พี่อยากเห็นคนรุุ่นใหม่ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นให้มากยิ่งขึ้น”
กฎหมายคุ้มครองสัตว์ 'ล้าสมัย'
สวัสดิภาพของช้างจะดีขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายเกี่ยวกับช้าง ซึ่งแสงเดือนบอกว่า ทุกวันนี้กฎหมายช้างล้าสมัยมาก ไม่มีการปกป้อง หากรัฐบาลไทยใจกล้าหน่อย ออกกฎหมายปกป้องคุ้มครองช้าง ประเทศเราจะไม่มีชื่อเสียงอย่างนี้ เพราะเราต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับเรื่องทารุณกรรมสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องช้าง มันเหมือนฝีที่ไม่ได้รักษา สักวันหนึ่งมันจะแตก เพราะว่าเราปล่อยให้ภาพการทารุณกรรม ไม่ว่าจะเป็นคนขี่ช้าง เห็นควาญทุบหัวช้าง และมีคนเอาไปเผยแพร่
"หากไม่มีการออกกฎหมายในเรื่องคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ แน่นอนว่าวันหนึ่งความเละเทะของเราจะกระจายไปทั่วโลก แล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะเละ เป็นโดมิโน"
สิ่งที่อยากจะให้แก้ไขก็คือ เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ อยากให้ช้างได้รับการคุ้มครอง ให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ใช่ว่าเราจะใช้งานเขา 10 กว่าชั่วโมงต่อวัน แล้วก็ไม่มีโอกาสให้เขาไปว่ายน้ำ เล่นโคลน ไปสัมผัสพูดคุยกัน คนที่จะใช้ช้างในการทำเงิน ก็ต้องคืนสิ่งที่เขาควรจะมี ไม่ใช่ปล่อยให้เขาขี่หลังช้างจนจบ ขี่ทั้งวัน พอเสร็จแล้วกลับมาล่ามโซ่เขา นั่นมันไม่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่พี่อยากให้เกิดขึ้น หญิงสาวร่างเล็กกล่าว
แสงเดือน กล่าวปิดท้ายกับทีมงานวอยซ์ ออนไลน์ ว่า สิ่งที่ทำให้อยู่ได้ทุกวันนี้ก็คือช้าง เพราะช้างมอบความสุขให้กับเธอ และเธอก็จะอยู่ดูแลช้างเพื่อให้พวกเขามีความสุขเช่นกัน
"ช้างทำให้พี่อยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาต่อชีวิตพี่ ไม่ว่าวันไหนพี่จะเศร้าโศกเสียใจ พี่จะเหน็ดเหนื่อยขนานไหน พี่กลับมาเห็นอย่างเนี้ย พี่มีความสุขมากเลยนะ เขาให้พลังพี่มากเลย เวลาเขามากอดพี่ มาหาพี่ มาสัมผัสพี่ พี่รู้สึกว่าเขาเป็นอะไรแบบที่พี่มีความสุขมากเลยอะ"
"เขาคือพลังที่ทำให้พี่อยู่ แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพี่มีความรู้สึกว่า พี่ไม่เคยท้อ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันอยู่ตรงหน้าพี่ พี่ทิ้งเขาไปไม่ได้ แล้วพี่ก็ไม่อยากตาย พี่ถึงบอกว่า พี่อยากจะมีชีวิตอยู่ยาวๆ เพื่อดูแลลูกของพี่ เพื่อให้เขาได้มีความสุข เพราะฉะนั้น เขามีพระคุณกับพี่"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: