ไทยมีแผนซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทผู้ผลิตยาของจีนจำนวน 2 ล้านโดส โดยไทยจะได้รับวัคซีนดังกล่าวล็อตแรกจำนวน 200,000 โดส ช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ อีก 800,000 โดสช่วงปลายเดือนมี.ค. และอีก 1 ล้านโดสที่จะได้ช่วงปลายเม.ย. นี้ ไทยจึงอาจได้รับวัคซีนโควิดล็อตแรกจากจีนก่อนหน้าวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งไทยสั่งซื้อในล็อตใหญ่ที่อาจได้รับล็อตแรกช่วงกลางปีนี้
'โคโรนาแวค' (CoronaVac) เป็นชื่อเรียกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของจีน ได้กลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงหลังสื่อบราซิลเปิดเผยว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไม่ถึง 60% นับว่าอยู่ในระดับ "กลางๆ" หากเทียบวัคซีนจากผู้ผลิตฝั่งยุโรปอาทิ แอสตราเซนเนกา, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่เผยประสิทธิภาพป้องกันเชื้อราว 90%
รัฐบาลปักกิ่งได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดนี้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 โดยแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีน เมื่อ 22 ธ.ค. ยืนยันว่า บริษัทเวชภัณฑ์ของจีนที่พัฒนาวัคซีน ปฏิบัติตามกฎหมายและการทดลองทางคลินิกอย่างเคร่งครัด
อีกทั้งการที่จีนอนุมัติใช้ฉุกเฉินวัคซีนดังกล่าวกว่า 1 ล้านโดส ในเดือนก.ค.นั้น ยัง "ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงใดๆ จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนมาโดยตลอด"
ปัจจุบันวัคซีนของซิโนแวคอยู่ในขั้นการทดลองระยะที่สามในกลุ่มอาสาสมัครที่ตุรกี บราซิล และอินโดนีเซีย ซึ่งคืบหน้าน้อยกว่าวัคซีนจากชาติตะวันตกเจ้าอื่นๆ ที่ผ่านการทดลองระยะสามจนได้รับอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้ในหลายประเทศ
ตุรกีรายงานผลทดลองเบื้องต้นว่ามีประสิทธิภาพราว 91% อินโดนีเซียประกาศประสิทธิภาพราว 65% ส่วนบราซิล ผลการทดลองยังคลุมเคลือ ก่อนหน้ารายงานระบุว่ามีประสิทธิภาพราว 78% แต่รายงานข่าวล่าสุดระบุว่าน้อยกว่า 60%
ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาจีนพยายามทำให้ทั่วโลกยอมรับและเชื่อถือในวัคซีนซิโนแวค
โดยทั่วไปแล้วไม่มีวัคซีนใดการันตีประสิทธิภาพถึง 100% และไม่มีวัคซีนใดที่รับประกันว่าจะไม่เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้ตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ รวมถึงองค์การอนามัยโลก กำหนดว่าวัคซีนทุกชนิดควรมีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้ออย่างน้อย 50%
เช่นเดียวกับวัคซีนจากบริษัทยาตะวันตก ซิโนแวคได้ทำการทดลองในวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครแล้วในสามชาติข้างต้น แต่สิ่งที่ยังคลางแคลงและไม่ชัดเจนต่อสาธารณะในวัคซีนจีนคือ ความชัดเจนเชิงประสิทธิภาพ รายงานผลกระทบข้างเคียงอาการแพ้ รวมถึงรายงานจากการทดลองระยะสามโดยละเอียด
ในการอนุมัติใช้วัคซีนฉุกเฉินหลายชาติใช้เกณฑ์ที่ว่าหากวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้รับวัคซีนในส่วนใหญ่ และไม่ได้สร้างผลข้างเคียงอาการแพ้ที่รุนแรงก็ถือว่า 'เป็นอันใช้ได้'
ที่สหรัฐฯ วัคซีนไฟเซอร์ถูกฉีดให้กับประชาชนไปแล้วราว 2 ล้านโดส มีรายงานผู้แพ้วัคซีนรุนแรงเพียง 21 คน ต่างกับวัคซีนซิโนแวคที่ยังไม่มีรายงานอย่างชัดเจนว่าทดลองในกลุ่มอาสาสมัครแล้วเท่าใด หรือมีรายงานอาการแพ้กี่ราย
บางประเทศที่รัฐบาลสั่งซื้อ 'วัคซีนเมดอินไชน่า' แต่วัคซีนดังกล่าวกลับไม่เป็นที่ต้องการในหมู่บุคลากรการแพทย์ในประเทศนั้นๆ ที่อียิปต์ รัฐบาลได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในแนวหน้า เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากจีน แต่บุคลากรสาธารณสุขของอียิปต์หลายคนปฏิเสธเข้ารับวัคซีนจีน เนื่องจากไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย
แพทย์รายหนึ่งในอียิปต์เผยว่า จีนเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าแทบไร้ความโปร่งใสอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจากการทดลองในขั้นสุดท้ายที่น่าเชื่อถือเพียงพอ หลายคนจึงปฏิเสธวัคซีนดังกล่าวจากจีน
ประชาชนในนครการาจี ของปากีสถาน เผยว่าจะไม่ยอมเข้ารับวัคซีนโควิดของจีน เพราะไม่น่าเชื่อถือ สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในอินโดนีเซีย ส่วนบราซิล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชาติที่สั่งซื้อโคโรนาแวคในล็อตใหญ่ ผลสำรวจในท้องถิ่นเผยว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับประสิทธิภาพของวัคซีนจีนกับรัสเซีย แต่กลับยอมรับวัคซีนจากสหรัฐ หรือยุโรปมากกว่า
ข้อมูลจากเว็บไซต์ซีพี ฟาร์มาซูติคอล บริษัทแม่ของซิโนแวค รายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ว่า หลายประเทศสั่งซื้อโคโรนาแวคแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด หลังจากนั้นมีรายงานวัคซีนล็อตแรก 3 ล้านโดสถูกส่งถึงอินโดนีเซีย โดยอินโดฯถือเป็นชาติแรกของโลกที่อนุมัติฉุกเฉินใช้วัคซีนซิโนแวคของจีน และพร้อมเริ่มต้นฉีดให้ประชากรกลุ่มใหญ่ในเดือนม.ค.นี้
สิงค์โปร์ ซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของไฟเซอร์แล้วเผยว่า ได้ลงนามสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากผู้ผลิตหลายแห่งทั้ง โมเดอร์นา ไฟเซอร์ และซิโนแวค เช่นเดียวกับมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่กำลังเจรจาจัดหาวัคซีนจากหลายแหล่งรวมถึงวัคซีนซิโนแวค
ต่างกับกัมพูชา ที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่า รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนโควิดล็อตแรก 1 ล้านโดส มาฉีดให้กับประชาชนอย่างฟรีๆ โดยวัคซีนนั้นต้องเป็นชนิดเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วสั่งมาใช้ และเป็นวัคซีนที่อนามัยโลก (WHO) รับรองเท่านั้น โดยนายกฯฮุนเซนกล่าวว่า "กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ หรือสถานที่ทดลองวัคซีน กัมพูชาจะไม่ยอมเป็นหนูทดลองวัคซีนของชาติใด"
ที่มา : Reuters , CGTN , AA , Bloomberg , Nikkei , straitstimes