หลายประเทศทั่วโลกเริ่มขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีนแก่พลเมืองกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก โดยวัคซีนที่หลายชาติเลือกใช้เพื่อแจกจ่ายนั้นส่วนมากเป็นวัคซีนจากบริษัทผู้วิจัยยา 3 แห่งคือ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา และของแอสตราเซเนกา สำหรับไทย รัฐบาลเผยว่าได้จัดหาซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากแหล่งคือ
แม้ไทยจะซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกาของอังกฤษในล็อตใหญ่ แต่วัคซีนล็อตแรกที่ไทยจะได้รับอาจเป็นของบริษัทผู้ผลิตยาของจีน ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหลายชาติ เนื่องจากยังเต็มไปด้วยคำถามเชิงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ
ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) เป็นชื่อของบริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีน ซึ่งบริษัทลูกของเครือซีพี เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อช่วง ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่มีชื่อว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) โดยวัคซีนดังกล่าวจีนได้อนุมัติให้ฉุกเฉินกับประชากรกลุ่มความเสี่ยงสูงในประเทศตั้งแต่ช่วง ก.ค. และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะสามในบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย
ข้อมูลเชิงประสิทธิภาคของโคโรแวคยังมีความคลุมเครือ โดยผลการทดลองทางคลินิกในระยะ3 ที่ตุรกีชี้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อถึง 91.25% สูงกว่าตัวเลขที่ประเมินจากการทดลองในบราซิลซึ่งระบุว่ามีประสิทธิภาพราว 50-90% โดยยังไม่มีรายละเอียดถึงการทดลองกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว
Anvisa หน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขบราซิล เผยในกลางเดือน ธ.ค. ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนไม่มีความโปร่งใสในการอนุมัติใช้วัคซีนโควิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดย Anvisa ระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า บราซิลจะเป็นผู้นำระดับสากลในกระบวนการประเมินวัคซีน โคโรแวค (CoronaVac) ของจีน ซึ่งบราซิลสั่งซื้อในจำนวนมาก โดยถูกอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในจีนเมื่อเดือนมิ.ย. แต่กลับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่ชัดเจนและโปร่งใสเชิงเทคนิค รวมถึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานจีนที่ตัดสินใจอนุมัติ
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเชิงประสิทธิภาพ แต่วัคซีนของซิโนแวคถูกสั่งจองไปแล้วทั้งสิ้น 174 ล้านโดส โดยอินโดนีเซีย และตุรกี มากสุดที่ประเทศละ 50 ล้านโดส ตามด้วยบราซิล 46 ล้านโดส
ปัจจุบันมีบริษัทยาของจีน 3 แห่งที่อยู่ระหว่างพัฒนาวัคซีนโควิดคือ ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech),แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) และ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งทั้งสามได้รับการอนุมัติใช้แค่เฉพาะในวงจำกัดเฉพาะในประเทศจีน และทดลองทางคลินิกในประชากรบางประเทศเท่านั้น
ขณะที่บริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนจากตะวันตก 3 แห่งอย่าง ไฟเซอร์, แอสตราเซเนกา และโมเดอร์นา มีความคืบหน้ามากกว่า เนื่องจากถูกอนุมัติใช้ฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ รวมถึงถูกนำไปฉีดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้วนับล้านคน
รองศาสตราจารย์ หลู่ ต้าไห่ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงค์โปร์ อธิบายกับบีบีซีว่า วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เป็นวัคซีนรูปแบบคลาสสิก ชนิดเดียวกับวัคซีนโรคฝีดาษและวัคซีนโปลิโอที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยการนำเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งตัวที่ตายหรือถูกทำให้สิ้นสภาพแล้วมาทำวัคซีน ก่อนฉีดเข้าร่างกายมนุษย์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน วัคซีนประเภทนี้เป็นวัคซีนแบบเก่าที่ใช้กันแพร่หลายในแวดวงการแพทย์ทั่วโลก
โดยทั่วไปแล้วลักษณะและเทคนิคที่ใช้ในวัคซีนของซิโนแวค คล้ายกับวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ไทยสั่งซื้อในล็อตใหญ่ มีข้อดีคือขั้นการผลิตไม่ซับซ้อน ไม่เสี่ยงต่อการตอบสนองขั้นรุนแรง อีกทั้งง่ายต่อการขนส่งและจัดเก็บรักษา สามารถเก็บได้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส เหมาะกับประเทศเขตร้อนชื้น
แต่สิ่งที่หลายชาติกังวลคือ ความโปร่งใสในการวิจัยวัคซีนของจีน เป็นที่สังเกตว่าชาติมหาอำนาจหลายแห่งที่สั่งจองกว้านซื้อวัคซีนในปริมาณมหาศาลนั้น แทบไม่มีชาติใดที่สั่งซื้อวัคซีนจากจีนเลย อาจแยกได้เป็นสองเหตุผลหลักคือ ความโปร่งใสด้านข้อมูลวิจัยและประสิทธิภาพ กับ นัยยะแฝงด้านการทูตของจีน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากสถาบันศูนย์การแพทย์อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Amsterdam UMC) อธิบายว่า ในชาติตะวันตกหลายชาติโดยเฉพาะยุโรป พยายามหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อตาย เนื่องจากอาจเกิดข้อบกพร่องในวัคซีนชนิดดังกล่าวที่ทำให้ผู้รับการฉีดติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าวได้
วัคซีนจีนใช้เชื้อไข้หวัดทั่วไป หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส (adenovirus) ที่อ่อนแอลงแล้วไม่ก่อให้เกิดโรคมาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2-virus หรือโควิด-19 ลงไป ในทางเทคนิคเป็นที่ยอมรับว่าปลอดภัย แต่สำหรับเชื้ออะดีโนไวรัสนั้น เป็นเชื้อไข้หวัดที่ยุโรปพบเจอได้บ่อย และชาวยุโรปส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว วัคซีนรูปแบบนี้จากจีนอาจไม่ได้ผลในคนยุโรป
อย่างไรก็ตาม แม้อะดีโนไวรัสในวัคซีนจีน เป็นรูปแบบชนิดเดียวกับที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาใช้ แต่แอสตราเซเนกา กลับได้อนุมัติใช้ในยุโรป เหตุผลเนื่องจากความโปร่งใสด้านข้อมูลงานวิจัยและการทดสอบทางคลินิกที่ถูกเปิดเผย รวมถึงเทคนิคในการสกัดยีนของอะดีโนไวรัสของแอสตราเซเนกาที่เฉพาะตัวแตกต่างกับของวัคซีนจีน
อีกเหตุผลคือ จีนนำวัคซีนโควิดฉีดแจกจ่ายแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้ว ทั้งๆ ที่การทดลองระยะสามยังไม่เสร็จสิ้นดี จึงยังไม่อาจทราบผลข้างเคียงของการทดลองในประชากรกลุ่มใหญ่ ประกอบกับยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนของสหภาพยุโรปที่เน้นโรงงานยาในยุโรปเพื่อง่ายต่อการจัดส่ง ชาติยุโรปจึงไม่เลือกใช้วัคซีนจีน
ในบางประเทศซึ่งรัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนจากจีน แต่ 'วัคซีนเมดอินไชน่า' กลับไม่เป็นที่ต้องการในหมู่บุคคลากรการแพทย์ของประเทศนั้นๆ เช่น อียิปต์ รัฐบาลได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในแนวหน้า เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากจีน แต่บุคลากรสาธารณสุขของอียิปต์หลายคนปฏิเสธเข้ารับวัคซีนจีน เนื่องจากไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย
แพทย์รายหนึ่งในอียิปต์เผยว่า จีนเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าแทบไร้ความโปร่งใสอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจากการทดลองในขั้นสุดท้ายที่น่าเชื่อถือเพียงพอ หลายคนจึงปฏิเสธวัคซีนดังกล่าวจากจีน
ปากีสถานซึ่งเป็นชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดจีน ประชาชนในนครการาจี เผยว่าจะไม่ยอมเข้ารับวัคซีนโควิดของจีน เพราะไม่น่าเชื่อถือ สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในอินโดนีเซีย และบราซิล ที่เผยว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับประสิทธิภาพของวัคซีนจีนกับรัสเซีย แต่กลับยอมรับวัคซีนจากสหรัฐ หรือยุโรปมากกว่า
จีนซึ่งคงคลุมเครือเรื่องต้นกำเนิดของไวรัสตั้งแต่แรก ได้พยายามใช้อิทธิพลสร้างความสัมพันธ์กับชาติด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาหลายชาติ วัคซีนเป็นกลยุทธ์ล่าสุดที่จีนหวังช่วยให้ประเทศเหล่านั้นที่ยังขาดการเข้าถึงวัคซีน สามารถรับวัคซีนป้องกันโควิดได้เช่นเดียวกับประเทศร่ำรวย
ฮอร์เฮ กุยจาร์โด อดีตเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศจีน เผยกับบลูมเบิร์กว่า จีนพยายามแก้ตัวจากการถูกพบว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดด้วยการแจกจ่ายวัคซีนและผลิตภัณฑ์ป้องกันเชื้อต่างๆ
เมื่อเดือน ต.ค. จีนพยายามสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลหลายชาติเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน ด้วยการเชิญคณะนักการทูตและตัวแทนรัฐบาลจากกลุ่มชาติในแอฟริกา 50 ประเทศ ไปเยี่ยมชมโรงงานของซิโนฟาร์ม ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามแบบสายฟ้าแลบของจีนก่อนหน้าการจัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้กับกลุ่มประเทศแอฟริกา
แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีน เมื่อ 22 ธ.ค. ยืนยันว่า บริษัทเวชภัณฑ์ของจีนที่พัฒนาวัคซีน ปฏิบัติตามกฎหมายและการทดลองทางคลินิกอย่างเคร่งครัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจากการที่รัฐบาลจีนอนุมัติใช้ฉุกเฉินวัคซีนกว่า 1 ล้านโดสในเดือนก.ค.นั้น ยัง "ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงใดๆ จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนมาโดยตลอด"
ในบราซิลซึ่งรัฐบาลกลางโดยประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู มักกล่าวโจมตีวัคซีนเมดอินไชน่าว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ "มันเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ยังมีวัคซีนอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือกว่า" โบลโซนารู กล่าว แต่เพียงไม่นานช่วงเดือนธ.ค. รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐเซาเปาโลกลับเลือกซื้อวัคซีนจากซิโนแวค
มุฮัมมัด บิน รอชิด อัลมักตูม นายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ปกครองดูไบ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดของบริษัทซิโนฟาร์ม เพื่อสร้างความมั่นใจและเรียกร้องให้ประชาชนในประเทศเข้ารับวัคซีนดังกล่าว
โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อกลางเดือน ธ.ค. ว่า จะเข้ารับวัคซีนเป็นคนแรก เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน สำหรับอินโดนีเซียสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคถึง 125 ล้านโดส และ 30 ล้านโดสจากโนวาแวซ Novavax บริษัทยาของสหรัฐฯ
แม้ผู้นำต่างชาติจะให้ความมั่นใจกับวัคซีนจีน แต่สำหรับแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ชาวฮ่องกงสามารถเลือกได้ว่าจะรับวัคซีนของของไฟเซอร์, ซิโนแวค หรือ แอสตราเซเนกา
แล้วคุณมั่นใจแค่ไหนกับวัคซีน Made in China ?
ที่มา : Bloomberg , BBC , Vaccine Tracking , TheGuardian , SCMP , NOS