เวลาประมาณ 16.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่า ถ้าถามว่าทำไมแก้รัฐธรรมนูญบ่อย ต้องถามคนฉีกว่าทำไมฉีกบ่อย และเขียนใหม่ด้วยการนำพรรคพวกตนเองมาเขียนเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไปแบบนี้ ถามว่ายึดอำนาจปฏิวัติทำไมบ่อยครั้งทั้งที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เคยถามประชาชนตอนเขียนหรือไม่ว่าอยากให้เขียนหรือไม่ ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านตกผลึกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับ และป้องกันพวกลากรถถังออกมาด้วยการให้ประชาชนมาเขียนด้วยการเป็นส.ส.ร. ยืนยันเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านคิดเรื่องนี้มานานและคิดมาตลอด พยายามหาความชอบธรรมว่าการจะแก้อะไรก็ตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษา เพื่อให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาและสังคมยอมรับ เราก็นำเนื้อหาจากกรรมาธิการชุดนั้นมาเขียนและก็ยื่นโดยตั้งส.ส.ร. การแก้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือให้ประชาชนมาเขียน คือต้องแก้มาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.ให้ประชาชนมาเขียน
อำนาจส.ว.ที่เขียนไว้สืบทอดอำนาจให้ผู้นำคนปัจจุบันจึงต้องแก้มาตรา 272 เพื่อถอดฉนวนไม่ให้สังคมเกิดเป็นไฟ และประชาชนยังมีความกังวลว่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประยุทธ์ 3 ส่วน ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งก็ไม่ได้น่าเกลียด แต่ต้องทำในภารกิจที่เหมาะสม เมื่อเขียนให้มาทำภารกิจแบบนี้สังคมก็ติดใจ วันนี้ท่านบอกว่ามาตามรัฐธรรมนูญนั้นถูกต้อง แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่าต้องมีสถานะเป็นกลาง และจำเป็นต้องมีสองสภาเพื่อถ่วงดุลกัน
'ชวน'ติง ส.ว.อย่าเหมารวมคนโกง
ระหวางที่ สุทินกำลังอภิปรายนั้น กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงสุทินว่าพูดวกวน เสียดสี ตอนแรกจะลงคะแนนให้ แต่กลับพล่าม ตนไม่โกรธที่ว่าส.ว. แต่ความจริงส.ส.บางคนรับใช้คนโกงมาตลอดชีวิตทำไมไม่พูดบ้าง รับใช้พรรคโคตรโกงมาทำไมไม่พูดบ้าง ตนเคารพประธานการประชุม แต่ไม่เคารพผู้อภิปราย
ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมย้ำว่า ตนเตือนเสมอว่าเราอย่าเหมา ความหมายคือว่าตนเชื่อพระบรมราโชวาทที่บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดในทุกวงการ ดังนั้นเราจะไปเจาะจงว่าวงการนั้นมีแต่คนโกง คนดี คนไม่ดีนั้นไม่ได้ เมื่อตอนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจแล้วตำหนินักการเมือง ตนก็บอกพล.อ.ประยุทธ์ว่านักการเมืองไม่ดีก็มีจริง แต่ทหารเลวก็มี ดังนั้นอย่าเหมา พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าไม่เคยเหมา แต่ตนยืนยันว่าเวลาพล.อ.ประยุทธ์พูดไม่เคยยกเว้น แต่เมื่อออกโทรทัศน์ครั้งแรกพล.อ.ประยุทธ์ก็พูดว่านักการเมืองที่ดีก็มี ดังนั้นอย่าไปเหมา ทุกองค์กรก็มีแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะขัดแย้งไม่จบ
ต่อมา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงว่า ขอให้นายกิตติศักดิ์ถอนคำพูดที่บอกว่าส.ส.รับใช้คนโกง เพราะจะปล่อยไปไม่ได้ แต่ ชวนบอกว่าไม่ต้องถอน เพราะตนบอกไปแล้วว่าเราอย่าไปเหมา และคงไม่ได้หมายถึง พิเชษฐ์ จากนั้นนายชวนได้ให้นายสุทินอภิปรายต่อ
ชี้ไม่มีความจำเป็นต้องให้ ส.ว.เลือกนายกฯ
จากนั้น สุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนอำนาจเลือกนายกฯที่บอกว่าเป็นบทเฉพาะกาลนั้น ประชาชนคิดว่าไม่มีความจำเป็น และไม่เชื่อ เพราะเขาเชื่อว่าใครจะได้เป็นนายกฯอยู่ที่ส.ว. เหมือนกับช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิด และจากที่ตนคุยกับส.ว.เขาก็ไม่อยากใช้อำนาจนี้ แต่มีคนอยากให้ใช้ สองปีจากนี้ประเทศไทยเดิมพันสูงมาก อาจจะเลือกตั้งสองครั้ง หรือเลือกนายกฯ สองครั้งก็ได้ จึงเป็นมูลเหตุที่เราต้องขอแก้ไข ส่วนเรื่องร่างที่เราจะรับนั้น เราภูมิใจที่เห็นมิติที่ดีที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคเสนอเข้ามาตรงกันกับเรา อย่าคิดว่าเป็นการฮั้วหรือสมประโยชน์กัน
'ไพบูลย์' เตือน ส.ว.อย่าดูถูกประชาชน เผยประชาชนอยากได้บัตร 2 ใบ
ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสรุปว่า พรรคพลังประชารัฐถูกกล่าวหาว่าได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เราจึงได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบการเลือกตั้งให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งจากการสัมผัสกับประชาชน พบว่าประชาชนอยากได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
"แต่เห็นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแล้วผิดหวัง ท่านอภิปรายอย่างกับท่านรู้เรื่องเลือกตั้งดีเหลือเกิน ผมฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ทั้งที่ผมก็เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเหมือนกัน ผมอยากบอกว่า ประชาชนรู้ดีว่าจะเลือกอะไร อย่าไปดูถูกประชาชน สมาชิกวุฒิสภาช่วยคำนึงถึงความรู้สึกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องปฏิบัติโดยตรงด้วย อย่าพูดแต่ด้านเดียว ผมเคยอยู่ทั้งสองด้าน จึงเข้าใจและถ้าผมจะพูดถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ผมพูดได้เป็นวัน"
ไพบูลย์ กล่าว่า อย่าอ้างว่าควรใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนี หรือ MMP ส่วนตัวเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสมัยของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการ ยังคำนวณจำนวน ส.ส.ไม่ถูกเลย เอาเข้ามาก็จะยิ่งสร้างปัญหาไปใหญ่
ไพบูลย์ กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185 ว่า ไม่ได้คิดแก้ที่จะไปโกงใคร แต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.แต่ ส.ว.กลับพูดเอาดีเข้าตัวมากเกินไป ฟังแล้วไม่สบายใจ
"โห ถ้าท่านดีขนาดนี้ พวกผมมันเลวขนาดนั้น มันไปกันไม่ได้หรอกครับ ท่านเป็น ส.ว.ท่านก็ฟังเราบ้าง แต่ถ้าท่านคิดว่า ส.ว.มีสถานะที่มีแต่ความถูกต้อง ส.ส.มีแต่ความไม่ถูกต้อง มันก็ไปกันไม่ได้"
'ชินวรณ์' ค้านนายกฯยุบสภา – ลาออก หวั่นรธน.ไม่ถูกแก้ ทำประเทศกลับสู่วังวนเดิม
ขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสรุปว่ารัฐธรรมนูญ 60 ยังมีปัญหา และมีช่องว่างเชิงโครงสร้างหลายประเด็นที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องการแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประขาธิปไตยมากขึ้น สิ่งที่ตนต้องการย้ำคือระบบการเลือกตั้ง เราต้องยอมรับความจริงว่า นายกรัฐมนตรีถูกเรียกร้องให้ลาออกและยุบสภา แต่ตนคิดว่าท่านมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาบ้านเมือง ประคับประคองให้เดินหน้าไปให้ได้ ท่านจึงไม่ควรลาออกหรือยุบสภา ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ตนมีหน้าที่ประคับประคองนายกฯ แต่มีความหวังว่าจะต้องดำเนินการถอดสลักแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบบการเลือกตั้ง และเลือกนายกฯ เปลี่ยนแปลงไปจากบริบทเดิม ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกติกา หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท้ายที่สุดการเมืองก็กลับไปสู่วังวนเดิม และปัญหาความขัดแย้งก็จะมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
ชินวรณ์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูหลักการทั้งหมดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ทุกประเด็นที่นำเสนอดีกว่ารัฐธรรมนูญ 60 แน่นอน เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยถอดสลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้ ซึ่งการเมืองที่มีเสถียรภาพ จะทำให้เราได้ผู้แทนที่ดี ได้การเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญจะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้กฎหมายอื่นๆต่อไป ถ้าเราละวางผลประโยชน์ส่วนตัว และมองอนาคต ว่าจะต้องช่วยกันให้การเมืองมีเสถียรภาพ ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ถ้าไม่มีความขัดแย้งที่ต้องโต้เถียงเรื่องที่มานายกฯ สภาเดี่ยว สภาคู่ ระบบการเลือกตั้ง นอกจากจะได้การเมืองที่มีเสถียรภาพแล้ว ยังจะได้การเมืองที่สุจริต ทำให้เราได้รัฐบาลที่ดี สิ่งที่ตามมาคือการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และการพัฒนาประเทศจะเป็นไปตามเป้าประสงค์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง