เวลา 14.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. ที่รัฐสภา วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อภิปรายการในวาระเรื่องด่วนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ในวาระที่หนึ่งว่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ จะส่งผลให้พรรคเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน ส.ส.มีอิทธิพลล้วงลูก ก้าวก่ายงบประมาณและข้าราชการประจำ
วันชัย กล่าวว่า ส่วนการปิดสวิตช์ ส.ว. ส่วนตัวยืนหยัดมาตั้งแต่ต้นว่า สนับสนุนในการตัดมาตราดังกล่าว และจะโหวตตัดอำนาจ ส.ว.ด้วย
"แต่เห็นว่า พรรคการเมืองหลายพรรค ส.ส. หลายคน ที่เสนอมานั้น อยากพูดคำว่า กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ ส.ว. นอกจากประเด็น ส.ส.แล้ว เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มสิทธิเสรีภาพ ยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่าเป็นเครื่องเคียงของการเสนอกฎหมาย เหมือนคำกลอนของสุนทรภู่ที่ว่า อันพริกไทยใบชีเหมือนสีกาต้องโรยหน้ากันเสียหน่อยให้อร่อยใจ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของการได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมือง เป็นเรื่องของการเอาชนะคะคานทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะเป้าหมายใหญ่คือระบบการเลือกตั้ง ที่มองไปว่าจะได้ ส.ส.เท่าไหร่”
อัดแก้ รธน.ทำพรรคเล็กหาย พรรคใหญ่ผงาด นายทุนครอบงำพรรค
วันชัย กล่าวว่า ประเทศไทย มีการพูดมาหลายครั้งแล้วว่า เมื่อมีการเลือกตั้งก็มีการทุจริต ซื้อสิทธิ์ขายเสียงในทุกระดับ แต่กลับไม่เคยคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการนี้เลย เคยหรือไม่ในการคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต มีแต่การพูดถึงว่าใครจะชนะการเลือกตั้งมากกว่า ทั้งที่ รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้พรรคการเมืองใหม่ๆ
“การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยหายไป พรรคใหญ่ๆจะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน นายทุนจะครอบงำพรรค มีเงินมีอำนาจจะมีบทบาททางการเมือง พรรคการเมืองนับจากนี้จะเป็นเสมือนบริษัท ธุรกิจการเมืองจะกลับมาอีกแล้ว ดังนั้น เรากำลังปิดสวิตช์คนเล็กคนน้อยคนยากคนจนที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง จึงจะเห็นว่าเป็นการเอาชนะกันทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ประท้วงว่าเป็นการเสียดสี ส.ส.อยากให้วันชัยได้แสดงออกในการอภิปรายครั้งนี้ ด้วยการลาออกจาก ส.ว.เพื่อไม่ให้เกิดรอยด่างต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะขณะนี้ท่านเป็นรอยด่างของระบบประชาธิปไตยอยู่ หากรู้ตัวก็ขอให้ลาออก
ขณะที่ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงด้วยว่า ประธานไม่ควบคุมการอภิปรายและผู้อภิปรายก็พูดจาเสียดสีให้ร้ายคนอื่น แม้จะเป็นผู้ใหญ่ แต่อย่าเป็นผู้ใหญ่แค่อายุ ต้องฝึกความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเองด้วย
ต่อมา วันชัย กลับมาอภิปรายถึงข้อครหาที่ว่า ส.ว.มีส่วนสำคัญในการเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถ้า ส.ส.รวมกันได้เกิน 250 คน ยังไงๆ ส.ว.ต้องเลือกคนๆนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไปเลือกคนอื่นให้เป็นนายกฯ นายกฯคนนั้นก็อยู่ไม่ได้ ส.ว.เองก็อยู่ไม่ได้ เพราะกำลังโหวตสวนกระแสประชาชน
“ทุกวันนี้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ได้ด้วย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ได้อยู่ได้เพราะ ส.ว.แม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ ส.ส.ทั้งสิ้น มาตรา 272 จะมีหรือไม่มีไม่ใช่ประเด็น เพราะอำนาจอยู่ที่ ส.ส. และ ส.ส.มีของดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ท่านรวมตัวได้ไม่เกิน 250 ก็เท่านั้น เลือกตั้งครั้งหน้าท่านลองดูสิครับ ส.ส.รวมตัวกัน 250 ขึ้นไป ยังไง ส.ส.กลุ่มนั้น ก็ได้เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว
'โรม' ซัดแผน พปชร.แก้ รธน.สืบทอดอำนาจเผด็จการ
จากนั้น รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เหมือนเป็นบทใหม่ของแผนกินรวบประเทศสืบทอดอำนาจเผด็จการ ที่ผ่านมาเราพยายามหยุดยั้งกระบวนการเหล่านั้น ด้วยการเสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ถูกหยุดยั้งด้วย ส.ส.พรรค พปชร. วันนี้ที่เขาเสนอแก้ไข เพราะต้องการแก้แค่บางมาตราที่หมดประโยชน์ ทั้งนี้ ประเด็นที่เห็นว่าจำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เพราะส.ว.คือกลไกสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์
'กิตติศักดิ์' เดือดประท้วงฉวยซัด ส.ส.ปัดเศษ
ระหว่าง รังสิมันต์ อภิปรายพาดพิงถึง ส.ว. ว่าขอให้ ส.ว.สำเหนียกตัวเองสละอำนาจ ทำให้ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วง โดยระบุว่า ส.ว.ในบทเฉพาะกาลมีประชาชนลงมติ 16 ล้านคน แต่ ส.ส.ที่กำลังอภิปรายมีพื้นที่หรือไม่ คะแนนที่ได้มาก็มาจากการปัดเศษ
ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ประท้วงประธาน ว่าปล่อยให้ ส.ว.ลุกขึ้นมาประท้วงโดยไม่ชี้แจงว่าผิดข้อบังคับข้อไหน ประธานต้องควบคุมการประชุมให้ดี
ทั้งนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นมาประท้วง กิตติศักดิ์ที่พูดถึง ส.ส.ปัดเศษ ท่านกำลังเสียดสี ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.อยู่ ขอให้ท่านถอน ให้เกียรติไพบูลย์ด้วย
จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน ขอให้ กิตติศักดิ์ประท้วงและแจ้งข้อบังคับให้ชัดเจนก่อนการอภิปรายและอย่าไปเสียดสีคนอื่น และให้ กิตติศักดิ์นั่งลง โดย กิตติศักดิ์ระบุว่าหากพูดถึง ส.ว.อีกก็จะประท้วงอีก จากนั้นจึงยอมนั่งลง ก่อนเข้าสู่การอภิปรายต่อไป
แนะประชามติถามยกเลิก รธน.-ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่
รังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า ต้องการแก้บางมาตรา เพื่อให้เป็นไปตามแผนการรวบอำนาจของคสช.เท่านั้น การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งก็เพราะต้องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขีดเส้นแบ่งเขตใหม่ใช่หรือไม่ ถามว่าแบบนี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ตนขอเรียกร้องให้กลับมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าหนทางหนึ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่รวดเร็วที่สุด คือการจัดทำประชามติถามประชาชนไปเลยว่า ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 และต้องการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนหรือไม่ เพื่อไม่ให้เหลือข้ออ้างอีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง