วันที่ 24 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับในวาระที่หนึ่ง เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อภิปรายว่า วุฒิสภามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับเหล่านี้ จะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกหรือไม่ เราเป็นวุฒิสภาชุดที่ถูกกล่าวหาเป็นจุดด่างพร้อย ส.ส.บางคนอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล มีหลักเกณฑ์ น่าเคารพ ขณะที่มีบางคนกลับพูดจากระแนะกระแหน เสียดสี กล่าวหา ให้ร้าย ส.ว. ซึ่งเรา ก็ทนฟังเพราะเห็นว่ายังอยู่ในกติกา
เสรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพราะ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขวิกฤตของชาติในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่มีเหตุผลในการเสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้ ส.ส.เข้ามาแก้ไขวิกฤต เป็นไปตามวรรค 2 ของรัฐธรรมมาตรา 272 หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ก็ให้ ส.ส.และ ส.ว.แก้ไขวิกฤต ดังนั้น ส.ว.จึงเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ จึงไม่ใช่การหวงอำนาจและสืบทอดอำนาจ แต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ
สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า สำหรับการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี จะผิดถูกอย่างไรประชาชนได้ให้อำนาจถึง 15.2 ล้านเสียง ผ่านการออกเสียงประชามติ โดยประชาชนไม่ไว้วางใจ จึงให้ ส.ว.ทำหน้าที่ ซึ่ง ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี อำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ที่พรรคการเมือง
สมชาย กล่าวว่า ไม่ต้องมาเสียเวลาปิดสวิตช์ ส.ว.เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 2 ปีกว่า ส.ว.ก็จะหมดวาระไป ส.ว.มาจากคำถามพ่วงของประชามติ จึงเกิดคำถามว่าถ้าแก้ได้แล้ว ต้องกลับไปทำประชามติอีกหรือไม่
“ไม่เคารพองค์สถาปนาเลยหรือ 15.2 ล้านเสียง ประชาชนกำหนดมา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องมาปิดสวิตช์ เลือกตั้งครั้งหน้าท่านไปรวมกันให้ได้ซัก 270 ถึง 300 เสียง ส.ว.ก็ไม่มีปัญญาในการไปโหวตค้าน”
สมชาย ยังกล่าวถึงการแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใน ว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ในอดีตเคยมีปัญหา นำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง และเกิดการรัฐประหารในปี 2549 คำถามคือจะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรอุบาท จะทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความสง่างาม ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะทำให้ผู้แทนกลับไปทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง