วันที่ 4 พฤศจิกายน แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ได้พบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขณะที่เธอเยือนเซี่ยงไฮ้ เพื่อเจ้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนประจำปี 2019 (China International Import Expo: CIIE2019)
สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่าหลังฟังรายงานถึงสถานการณ์ประท้วงฮ่องกงจากหล่ำ สีจิ้นผิง กล่าวว่า รัฐบาลกลางของจีน "มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง" ในตัวหล่ำ และทราบว่าหล่ำได้ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาเสถียรภาพของฮ่องกง พร้อมย้ำว่าการยุติความรุนแรงและความโกลาหล รวมถึงการฟื้นฟูให้บ้านเมืองกลับสู่ระเบียบยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับฮ่องกงในขณะนี้
สีจิ้นผิง ยังแสดงความต้องการให้มีการหยุดยั้งและลงโทษตามกฎหมายสำหรับการก่อเหตุรุนแรง รวมถึงให้มีการเจรจากับทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน
อย่างไรก็ตาม วิลลี หล่ำ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน แสดงความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า นี่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนเชื่อมั่นในการทำงานของหล่ำ
"นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาชอบแคร์รี หล่ำ หรือมองว่าเธอทำหน้าที่ได้ดี เพียงแต่ว่าหากพวกเขาไม่แสดงทีท่าว่าสนับสนุนเธอ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่หล่ำจะปฏิบัติหน้าที่ในฮ่องกงได้" เขากล่าว
หลังการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยืดเยื้อติดต่อกันหลายเดือน ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่มีการประท้วงใหญ่ความนิยมของแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตฮ่องกง ก็ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งมา และยังคงทำสถิติตกต่ำลงเรื่อยๆ ในเดือนต่อๆ มา
ผลสำรวจล่าสุดจากสถาบันวิจัยสาธารณมติฮ่องกง (Hong Kong Public Opinion Research Institute: HKPORI) เผยผลสำรวจชาวฮ่องกง 1,038 คน ในช่วงวันที่ 17-23 ตุลาคม ผ่านทางโทรศัพท์ ชี้ว่ามีผู้จะสนับสนุนแคร์รี หล่ำให้เป็นผู้บริหารสูงสุดเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 82 เปอร์เซนต์ระบุว่าจะไม่สนับสนุนเธอ
กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกลุ่มชาวฮ่องกงนิยมจีนแผ่นดินใหญ่และสนับสนุนรัฐบาลฮ่องกง และนี่คือมุมมองบางส่วนของพวกเขา
เคต ลี เจ้าของร้านน้ำชาและอาหาร ผู้โพสต์รูปสนับสนุนตำรวจฮ่องกงเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ยอดขายของร้านลดลงกว่าครึ่งภายในสามสัปดาห์ สื่อในมือของรัฐบาลจีนอย่างไชนาเดลีย์ ซีจีทีเอ็น และซินหัว ชูให้เป็นตัวแทนของชาวฮ่องกงที่สนับสนุนจีน กระทั่งร้านของเธอกลายเป็นแหล่งรวมตัวของชาวฮ่องกงนิยมจีน และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่แวะเวียนมา
ลี เจ้าของร้านวัย 51 ปี กล่าวว่าเธอไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองนัก แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของผู้ประท้วง
"ฉันอยากจะถามพวกเขานะ คุณคิดว่าฮ่องกงตอนนี้ยังไม่มีเสรีภาพอีกเหรอ คุณพูดถึงเหตุการณ์ 4 มิถุนายน ที่ฮ่องกงไม่ได้เหรอ ที่แผ่นดินใหญ่จะพูดเรื่องนี้ออกมาที่จัตุรัสเทียนอัมเหมินได้ไหมล่ะ" เธอกล่าวถึงเหตุสังหารหมู่ปราบปรามนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1989
ในขณะนี้รัฐบาลและสื่อจีนพยายามสร้างภาพให้การประท้วงฮ่องกงดูเหมือนเป็นขบวนการที่มีมือที่มองไม่เห็นของต่างชาติอย่างสหรัฐฯ หรืออังกฤษหนุนหลัง
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานมากไปกว่าคำกล่าวของนักการเมืองบางรายที่สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่แนวคิดที่ว่าผู้ประท้วงฮ่องกงได้รับเงินจากต่างชาติให้มาก่อความไม่สงบก็เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชาวฮ่องกงผู้สนับสนุนรัฐบาลจีน
ทางด้านเอริกา ครูสอนศิลปะวันยี่สิบปลายๆ ผู้อาสาสมัครมาเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านของลี ก็แสดงความเห็นว่าการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้นไม่จำเป็น
"เราสิต้องถามว่าทำไมพวกเขาอยากจะสู้เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปกัน ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเพราะพวกอเมริกันบอกให้ทำน่ะสิ" เธอกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1997 ที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีน ฮ่องกงยังไม่เคยมีการเลือกตั้งเสรี แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตฮ่องกงคนปัจจุบัน ก็ถูกเลือกในปี 2017 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1,194 ซึ่งเต็มไปด้วยผู้สนับสนุนรัฐบาลจีน การเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไป (Universal Suffrage) ซึ่งทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นหนึ่งใน 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง
ทางด้าน ฟงฟง วัย 60 ปี เล่าว่าหลังจากลูกชายวัย 28 ปีของเธอเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย เธอได้บอกเขาว่าถ้าจับได้ว่ายังไปเข้าร่วมก่อจราจลอีกจะจับส่งตำรวจ
"ฉันบอกเขาว่าถ้าจะเป็นพวกก่อจราจลแล้วถูกตำรวจฟาดก็สมควรแล้ว" เธอกล่าวพร้อมเสริมว่ามองว่าฮ่องกงก็ควรจะมีประชาธิปไตย แต่การจะมีการเลือกตั้งทั่วไปต้องค่อยเป็นค่อยไป จะมาทำทีเดียวเลยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีชี้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงตอบโต้ว่าเป็นความผิดของคนรุ่นก่อนหน้าที่ล้มเหลวในการต้านรัฐบาลจีน ทำให้เสรีภาพของฮ่องกงยิ่งห่างไกลออกไป และเป็นเหตุนำมาสู่การชุมนุมประท้วงในปีนี้ มุมมองที่ต่างกันนี้ทำให้ฮ่องกงตกอยู่ในสภาวะการแบ่งขั้วทางการเมือง
ข้าราชการเกษียณ ไม่ประสงค์ออกนาม วัย 61 ปี แสดงความเห็นกับเอเอฟพีว่ากลุ่มผู้ประท้วงกำลังสู้ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ
"สุดท้ายคุณก็ต้องยอมรับว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิเสธได้ คุณต่อต้านไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือยอมรับกฎของพวกเขา" เขากล่าว
ที่มา: Xinhua / Guardian / AFP / China Daily
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: