ไม่พบผลการค้นหา
อี-คอมเมิร์ซในฮ่องกงมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเหตุประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น จากที่เดิมทีการเดินทางไปซื้อของจากร้านสะดวกสบายเกินไป

จากรายงานการชำระเงินกิจการค้าปลีกทั่วโลกปี 2019 โดยเวิลด์เพย์ (WorldPay) ระบุว่าอี-คอมเมิร์ซมักเติบโตได้ช้าในฮ่องกงซึ่งร้านค้าและร้านอาหารอยู่ไม่ไกลจากผู้บริโภค โดยในปี 2018 มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์จากการซื้อสินค้าปลีกเท่านั้นที่ทำผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นสูงถึง 24 เปอร์เซ็นต์

เอริก ซุนหย่งชง รองประธานสหพันธ์อี-คอมเมิร์ซ โอทูโอ แห่งฮ่องกง (Hong Kong O2O E-Commerce Federation) องค์กรส่งเสริมการค้าออนไลน์ของฮ่องกง กล่าวว่าก่อนหน้านี้หลายปี การผลักดันธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในฮ่องกงนั้นยากมาก โดยส่วนมากเป็นเพราะการไปจับจ่ายชอปปิ้งในเมืองนั้นสะดวกสบายอย่างยิ่ง

ซุนเองซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของคินอกซ์ (Kinox) บริษัทผู้ผลิตเครื่องครัวด้วยนั้น กล่าวว่าในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ได้เลิกไปซื้อของตามร้านค้าและสั่งซื้อสินค้าแฟชั่นผ่านช่องทางออนไลน์แทน

สำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า ชีวิตประจำวันของชาวฮ่องกงถูกพลิกโฉมไปเพราะการประท้วง ย่านการค้าอย่างคอสเวย์เบย์ (Causeway Bay) แอดไมรัลตี (Admiralty) หว่านจ๋าย (Wan Chai) และถนนนาธาน (Nathan Road) ต่างก็เคยเป็นจุดปะทะในการประท้วง

ระบบขนส่งมวลชนกลายเป็นอัมพาต เอ็มทีอาร์ (Mass Transit Railway Corporation: MTR) ผู้ให้บริการระบบรางรถไฟฟ้าของฮ่องกงซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ ก็ได้ลดเวลาให้บริการลงเพื่อใช้ในการซ่อมแซม และบรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารต่างก็ถูกจำกัดชั่วโมงการเปิดให้บริการ หรือแม้แต่ปิดไปเป็นการชั่วคราว

ด้วยเหตุนี้ ชาวฮ่องกงจึงหันมาซื้อของชำ เสื้อผ้า เครื่องเรือนผ่านทางออนไลน์ และใช้บริการส่งอาหารกันแทนการออกไปกินที่ร้าน

แมริแอนนา โกวจุงยิน หัวหน้าทีมวิจัยการศึกษาจีนและผู้บริโภคฮ่องกง แห่งซีแอลเอสเอ (CLSA) บริษัทด้านการตลาดและการลงทุน กล่าวว่ามีการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ซื้อของน้อยชิ้นบ่อยขึ้น เนื่องจากการออกไปจับจ่ายหรือกินดื่มกลายเป็นเรื่องไม่สะดวก ทว่าเธอยังเสริมอีกว่าผู้คนยังคงเลือกจะซื้อของหรูหราราคาแพงจากร้านค้ามากกว่าทางออนไลน์

ทั้งนี้ เหตุการณ์ประท้วงร่วมด้วยกับผลกรทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแผ่นดินใหญ่นั้นก็ส่งผลกับยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกง โดยในเดือนสิงหาคมลดลง 23 เปอร์เซ็นต์จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว เหลือ 29.4 ล้านฮ่องกงดอลลาร์ (ราว 113.1 ล้านบาท) ขณะที่เดิมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนั้นยอดขายลดลงที่ 6 เปอร์เซ็นต์

โกวคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปียอดการค้าปลีกฮ่องกงในปีนี้จะลดลง 17 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการประท้วงและสงครามการค้าไม่มีท่าทีจะจบลงในเร็วๆ นี้

ริกกี หว่องไวเก ประธานและผู้ก่อตั้ง ฮ่องกงเทเลวิชันเน็ตเวิร์ก (Hong Kong Television Network) ซึ่งมีแพลตฟอร์มชอปปิงและบริการจัดส่งสินค้าออนไลน์ เอชเคทีวีมอลล์ (HKTVmall) และโฮโคบาย (HoKoBuy) กล่าวว่ายอดสั่งซื้อเฉลี่ยรายวันสูงขึ้น 40.5 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็น 16,300 รายการ สำหรับเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว และนับว่าสูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยอดสั่งซื้อ 13,800 รายการในเดือนพฤษภาคม ก่อนจะเกิดเหตุประท้วงในเดือนมิถุนายน

สำหรับรายได้จากยอดขาย (gross sales) จากเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อนสูงขึ้น 36.8 เปอร์เซ็นต์เป็น 7.8 ล้าน (ราว 30 ล้านบาท) และสูงขึ้น 1.2 เปอร์เซ็นต์จากเดือนสิงหาคมในปีนี้ ทั้งนี้เอชเคทีวีมอลล์ จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในบ้าน สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าไลฟ์สไตล์ ขณะที่โฮโคบาย เป็นแพลตฟอร์มค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค แพ็คเกจทัวร์ และดีลร้านอาหาร

แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารฟู้ดแพนด้า (FoodPanda) ก็ยืนยันว่ามียอดสั่งซื้อเพิ่มากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมยังได้ระบุว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีพาร์ตเนอร์จัดส่งอาหารเพิ่มขึ้นในฮ่องกงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 1,200 คน

ทางด้านโกว กล่าวว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ออนไลน์ชอปปิ้งโตขึ้น อาจเป็นเพราะระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้าขึ้น หลังฮ่องกงออกใบอนุญาตให้ผู้บริการระบบจ่ายเงิน (SVF) เพิ่มมากขึ้นเมื่อสองปีก่อน

หว่อง นักศึกษาวัย 25 ปี ผู้ไม่เปิดเผยชื่อจริง กล่าวว่าเดิมทีแทบไม่ได้ซื้อของออนไลน์เลย ทว่าหลังเหตุการณ์ประท้วงได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตัวเองไป

"ผมตั้งใจว่าจะไปซื้อเตียงใหม่ที่อิเกียในย่านคอสเวย์เบย์ แต่ก็กังวลว่าจะมีเหตุประท้วงแถวนั้นในช่วงสุดสัปดาห์ก็เลยซื้อออนไลน์แทน" หว่องกล่าว

ที่มา: SCMP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: