วันที่ 31 ตุลาคม ไมโครซอฟท์ประเทศญี่ปุ่น เผยผลลัพธ์จากการทดลองลดวันทำงานพนักงานลงเหลือ 4 วัน โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการกำหนดให้วันศุกร์ของทุกสัปดาห์เป็นวันหยุด และเป็นการหยุดแบบได้ค่าจ้างตามปกติ
ผลจากการให้พนักงานราว 2,300 คนของสำนักงานใหญ่ไมโครซอฟท์ญี่ปุ่นได้หยุด 3 วันต่อสัปดาห์ตลอดทั้งเดือนนั้น พบว่าผลิตภาพ หรือ productivity ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 39.9 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือใช้เวลาทำงานน้อยลงแต่ได้งานมากขึ้น ตัวเลขผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น 39.9 เปอร์เซ็นต์นี้ วัดจากยอดขายที่ทำได้ต่อจำนวนพนักงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 2018
ในช่วงดังกล่าวยังมีการประชุมที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้งเพิ่มขึ้น 46 เปอร์เซ็นต์ และมีการประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์ และมีพนักงานลาหยุดลดลง 25.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนดังกล่าว
ไมโครซอฟท์ ชี้ว่าการที่ผลิตภาพเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้เวลาประชุมน้อยลง และหันไปใช้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการประชุมทางไกลแทน
นอกจากการเพิ่มวันหยุดจะทำให้พนักงานทำงานได้ผลิตภาพกันมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทลดลงด้วย โดยค่าไฟลดลง 23.1 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนกระดาษที่ปรินต์ลดลง 58.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ทั้งนี้ เดือนสิงหาคมเป็นฤดูร้อนของญี่ปุ่น
ทางด้านพนักงานเองก็ให้การตอบรับที่ดีกับการทดสอบครั้งนี้เป็นส่วนมาก โดย 92.1 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพอใจกับการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
พนักงานบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้น ให้เหตุผลว่าอยากให้มีบริษัทต่างๆ ลดวันทำงานแบบนี้กันมากขึ้น แต่ก็คิดว่ายากสำหรับบริษัทที่ต้องมีคนทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งคงต้องจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อหมุนเวียนคนมาทำหน้าที่
ทางบริษัทเผยว่ามีแผนจะทดลองโครงการลักษณะนี้อีกครั้งในฤดูหนาว
การทดลองนำร่องของไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางเลือกชีวิตทำงาน (Work-Life Choice Challenge) ซึ่งท้าทายขนบการทำงานของชาวญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนักเกินความเหมาะสมกระทั่งมีคำว่า 'คาโรชิ' ที่แปลว่าการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป
จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2016 พบว่าเกือบหนึ่งใน 4 ของบริษัทญี่ปุ่น ให้พนักงานทำงานล่วงเวลากว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน โดยส่วนมากมันเป็นการล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: