ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน. มติเอกฉันท์ ชี้ กกต. ไร้อำนาจยื่นร้องโดยตรงต่อศาลเพื่อขอให้ตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พร้อมมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง ย้ำเป็นอำนาจ กกต. คำนวณเองหลังประกาศผล ส.ส.แบ่งเขต

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวว่า วันนี้ (24 เม.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แล้ว โดยมีมติเอกฉันท์เห็นว่า กรณีผู้ร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตาา 128 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ซึ่งเป็นการขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องโดยตรงในประเด็นนี้โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ได้

ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องจะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่นั้น ศาลมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงว่า กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีประกาศผลเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว และข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฎว่าผู้ร้องได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว คำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า กกต. เป็นองค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ การพิจารณาและมีคำสั่งของ กกต. ต้องถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง กกต. ไม่มีอำนาจในการตีความกฎหมายเพราะไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำได้เพียงวินิจฉัยข้อเท็จจริงกับบทบัญญัติตามลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ในกรณีของกฎหมาย จะต้องยึดหลักการว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายอื่นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ด้วย 

การเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ดังนั้น กกต.จะต้องไม่กระทำการตามอำเภอใจ จะต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม เป็นไปตามลายลักษณ์อักษร ไม่คลุมเครือแอบแฝง ซึ่งบุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันและไม่เอากฎหมายอยู่ในอุ้งมือเป็นสมบัติส่วนบุคคลของกลุ่มใดๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการรักษาและสืบทอดอำนาจ มิเช่นนั้น กกต. จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สร้าง “ภยันตรายต่อสังคม” และการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมก็คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการก่ออาชญากรรมต่อประชาชน นั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง