กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง ตามที่แต่ละฝ่ายตีความบทบัญญัติไปคนละทาง แต่ละแนวทางจะส่งผลต่อการรวบรวมเสียงส.ส.ในสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลของ "ฝ่ายที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช." กับ "ฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช." อย่างมีนัยยะสำคัญ จาก 2 วิธีคิดหลักดังนี้
สูตรแรก ยึดหลักส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับต้องไม่เกินจำนวนส.ส.พึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) วรรคท้าย โดยแบ่งออกเป็นสองแนวทางคือ
เริ่มจากการดำเนินการตาม มาตรา 128 (1) หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนบัตรดี 35,532,645 หารด้วย 500 = 71,065.29
(2) หาจำนวนส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ด้วยการนำคะแนน 71,065 หารด้วยคะแนนดิบที่แต่ละพรรคได้รับทั้งประเทศ เช่น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อไทย มีคะแนนดิบ 7,920,630 หารด้วย 71,065 = 111.4561 ผลที่ได้รับคือจะมีทั้งสิ้น 16 พรรคที่มียอดส.ส.พึงมีเกิน 1 ขึ้นไป โดยลำดับสุดท้ายคือ พรรคพลังชาติไทย ที่มีคะแนนดิบ 73,871 หารด้วย 71,065 = 1.0394
(3) หาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ด้วยการนำ จำนวนส.ส.พึงมีตาม (2) ลบจำนวนส.ส.เขตที่แต่ละพรรคชนะไปแล้ว เช่น พรรคอนาคตใหม่ มีจำนวนส.ส.พึงมี 88.1717 เมื่อชนะส.ส.เขตไปแล้ว 30 ที่นั่ง ก็จะได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น 58 ที่นั่ง แต่กรณีของพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวนส.ส.พึงมี 111.4561 แต่เมื่อชนะได้รับส.ส.เขตไปแล้ว 137 เขต เกิน ก็ถือว่าไม่ได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติที่มีจำนวนส.ส.พึงมี 6.8308 แต่ชนะส.ส.แบบแบ่งเขตไปแล้ว 6 เขตก็จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เมื่อรวมจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของ 16 พรรค เฉพาะจำนวนเต็มแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือ 152 เกิน 150 จึงต้องปรับอัตราส่วนคือ นำจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรค คูนด้วย 150 หารด้วย "ผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินหนึ่งร้อยห้าสืบ" ซึ่งก็คือ 152 เช่น พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น 58 คูณ 150 หารด้วย 152 = 57.2368 (ดูตารางที่1 วงกลมสีแดงและน้ำตาล)
เมื่อได้ผลลัพธ์ตาม (7) แล้ว ก็ดำเนินการตาม (4) คือ จัดสรรจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน โดยใช้จำนวนเต็มก่อน
ซึ่งเมื่อนำผลลัพธ์มารวมกันจะพบว่า จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของทั้ง 16 พรรคที่นำมาคิดนั้นคือ 138 ขาด 12 จึงจะครบ 150 จึงต้องดำเนินการตาม (6) โดยให้พรรคการเมืองที่มีเศษสูงสุด 12 อันดับ ก็จะทำให้เห็นจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ครบ 150 คน (ดูตารางที่1 วงกลมสีเหลืองและสีฟ้า)
(สูตรคำนวณ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่)
จากนั้นจึงดำเนินการปัดเศษตาม (4) และ (6) ทำให้ผลลัพธ์จำนวนส.ส.ทั้งหมดของ 16 พรรค ต่างกับแนวทางที่1.1เล็กน้อยตรง พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้จำนวนส.ส.ที่ +-1 เท่านั้น
(สูตร คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.)
สูตร 2 ยึดหลักการคำนวณทุกคะแนนไม่ทิ้งน้ำ นำเสนอโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กรธ. และกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าวสำนักงานกกต. โดยผลลัพธ์คือ จะมีไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมืองที่ได้ส.ส.
โดยความแตกต่างของสูตรนี้ อยู่ที่การนำส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ที่เกิดจากการนำจนวนส.ส.พึง ลบด้วยจำนวนส.ส.เขต ทุกคะแนนรวมถึงทศนิยมของทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อซึ่งมี 77 พรรคมาคิดรวมทั้งหมด
จึงทำให้การคิดตอนปรับอัตราส่วนตาม (7) ฐานคิดจะอยู่ที่ 175.5443 เมื่อนำมาดำเนินการตาม (4) จึงทำให้ผลรวมนั้นได้ 126 เหลือเศษทั้งหมด 24 ที่ต้องปัดให้
ซึ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแตกต่างที่สำคัญจากแนวทางที่ 1 คือการปัดเศษตามแนวทางที่ 2 นี้ จะปัดโดยยึดจากทศนิยมมากที่สุด 24 อันดับจาก ทั้ง 77 พรรค ไม่ได้คำนึงเรื่องจำนวนส.ส.พึงมีเป็นสำคัญแบบแนวทางที่ 1 ซึ่งยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) วรรคท้าย ผลลัพธ์ที่ได้ จึงพบได้ดังตารางการคำนวณที่ไอลอว์คิดเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า จะมี 30 พรรคที่ได้รับส.ส. โดยมี 13 พรรคที่ได้รับส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนโดยที่จำนวนส.ส.พึงมีนั้นไม่ถึง 1
(ไอลอว์ เสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรที่สอง ที่กระจาย ส.ส.ให้พรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.พึงมี ไม่ถึง 1 ที่นั่ง)
หากเปรียบเทียบภาพรวมจาก 2 แนวทางการคิดหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า แนวทางที่ 1 นั้นมีความสมเหตุสมผลทางคณิตศาสตร์มากกว่า
เพราะผลลัพธ์สุดท้าย ที่ 16 พรรคได้ส.ส.นั้น ก็ไม่มีพรรคไหนได้เกินไปจากจำนวนส.ส.พึงมี ที่จะมีส.ส. 1 คนได้ต้องมีอย่างน้อย 71,065 เสียง
ต่างจากแนวทางที่สำนักงาน กกต. คิด ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตหักล้างในเรื่องพรรคเล็ก 13 พรรคได้ส.ส. โดยที่จำนวนส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 กันอย่างมาก ต่ำสุดที่ได้ส.ส.มีคะแนนเพียง 2 หมื่นปลายๆเท่านั้น
เมื่อพิจารณาถึงคณิตศาสตร์การเมือง ในการชิงความได้เปรียบรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล โดยคำนวณตาม แนวทางที่ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และนายสมชัย จะพบว่า "พรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช." 7 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย 137 พรรคอนาคตใหม่ 87 (+-1) พรรคเสรีรวมไทย 11 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 พรรคประชาชาติ 6 พรรคเพื่อชาติ 5 และพรรคปวงชนชาวไทย 1 รวมมีส.ส. 253 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. 5 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 1 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง รวมมีส.ส. 127 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากรวม 250 ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา
ขณะที่พรรคฝ่ายสงวนท่าทีรอร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก 4 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 54 (+-1) พรรคภูมิใจไทย 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง รวมมีส.ส. 120 ที่นั่ง กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล
(พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแถลงข่าวรวมเสียงกันตั้งรัฐบาลเกิน 250 เสียง)
เมื่อพิจารณาจำนวน ส.ส.ตามแนวทางที่ 2 ที่เป็นสูตรคำนวณ ของ กกต. กรธ. จะพบว่า "พรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช." 7 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย 137 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง รวมมี ส.ส. 246 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทันที
"พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช." 5 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 2 พรรคพลังชาติไทย 1 รวมมีส.ส. 126 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากรวม 250 ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา
"พรรคฝ่ายสงวนท่าทีรอร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก" 4 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 49 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนา 2 เสียง รวมมีส.ส. 112 ที่นั่ง กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย โดยหากรวมกับพรรคฝ่ายต่อต้าน คสช.ก็จะมีส.ส.รวมกว่า 358 ที่นั่ง ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้
ขณะที่พรรคขนาดเล็กที่ได้รับจากจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมกัน 16 ที่นั่ง จะถูกจับตามองว่า จะเป็นเบี้ยหัวแตกที่รวมกลุ่มกันแล้วจะมีอำนาจต่อรองในการร่วมรัฐบาลสูงมาก
โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ฝ่ายสนับสนุน คสช.จะเป็นผู้รวบเสียงพรรคเล็กเหล่านี้ไปร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้ารวมกับพรรคฝ่ายที่ยังสงวนท่าทีเข้าด้วยนั้น ก็จะทำให้ พรรคฝ่ายสนับสนุน คสช. มี ส.ส.ทั้งสิ้น 254 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพึ่ง 250 ส.ว.แต่งตั้ง แต่ด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำก็อาจนำไปสู่ปัญหาหารการเจรจาต่อรอง เพราะเสียงที่ปริ่มน้ำมีผลต่อการผ่านกฎหมายฉบับสำคัญหรือการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
แนวทางการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 2 แนวทางให้ผลที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล จนมีผลต่อจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรค ที่จะทำการรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และกำหนดโฉมหน้าของรัฐบาลถัดไปชนิดต้องลุ้นระทึก สำหรับ "ฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช." และ "ฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช."
แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วการคำนวณส.ส.ที่กกต.จะใช้ มีเพียงสูตรเดียวตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
แต่ผลที่ตามมาหมายถึงการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย จึงมีการคาดหมายกันแล้วว่า สูตรคำนวณส.ส.ตามกฎหมาย จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าหวยจะออกแนวทางไหน ก็เชื่อว่า จะต้องจบที่การฟ้องร้องต่อศาลอย่างแน่นอน
หากใช้สูตรที่ 1 พรรคเล็กจำนวนมากที่ได้เฮไปแล้วล่วงหน้าย่อมต้องมีการทวงถาม
หากใช้สูตรที่ 2 ก็ยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างว่า ทำไมพรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,065 เสียง จึงได้ส.ส. และแน่นอนว่า ผู้เสียประโยชน์อย่างมากคือ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่จำนวนส.ส.จะหายไปพรรคละ 5-10 ที่นั่ง คงไม่อยู่นิ่งเฉย
ด้าน นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ไว้ว่า สูตรคิดส.ส.บัญชีรายชื่อจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองลูกต่อไปที่อาจนับถอยหลังรอวันระเบิด นักร้องจำนวนมากพร้อมจะไปยื่นต่อศาลให้พิจารณาวินิจฉัย โดยชี้ว่า มาตรา 91 (4) วรรคท้ายที่กำหนดว่า การจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วน ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีส.ส.เกินจำนวนส.ส.พึงมี จะเป็น "คีย์เวิร์ด"ที่สำคัญในการยุติปัญหาได้
องศาร้อนการเมืองไทยจากระเบิดเวลาลูกถัดไปคงต้องฝากความหวังไว้กับ กกต.ที่ยังมีเวลาเคาะสูตรสุดท้ายในการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ถึงวันที่ 9 พ.ค.นี้
กกต.จะเป็นผู้ "ถอดสลัก" หรือ "จุดชนวน" โปรดติดตามด้วยใจระทึก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง