สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวระบุ กกต.มีมติส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดย กกต.ได้พิจารณาเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 ตามที่ สำนักงาน กกต. เสนอต่อที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 แล้ว มีความเห็นดังนี้
1.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 91 วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณและการคิดอัตราส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไว้ สำนักงาน กกต. ได้เสนอผลการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ได้จัดทำวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในชั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วปรากฏว่า การคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน
แต่เมื่อคำนวณต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 (5) แล้ว พรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส.จะพึงมีได้ ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คนดังกล่าว สามารถได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
2. กกต.พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อ 1 แล้วเห็นว่า
2.1 แม้การคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ สำนักงาน กกต. ดำเนินการมานั้น สามารถจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กรธ. ก็ตาม แต่การคำนวณ ส.ส. ตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 91 (2) และ (4) เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.จะพึงมีได้ตาม (2) ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ 1 คนจึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรค มีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 (4)
แต่หากคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 91 แล้ว จะทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คนไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนได้เช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้จำนวน 150 คน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 83 ได้
2.2 การคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามข้อ 1 ซึ่งเป็นการดำเนินการคิดคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผลของการคำนวณจะไม่สามารถนำไปประกาศผลการเลือกตั้งได้ เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 91 (4)
3. อาศัยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงได้เสนอเรื่องตามข้อ 1 และข้อ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่า กรณี กกต. จะคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจานวน 150 คนได้ มีเพียงการคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ที่สามารถจะคำนวณให้ได้จำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้
ดังนั้น กกต. จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 โดยการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ1 คน กกต. จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 91 หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง