นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสาน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “จิ้งหรีดอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจและเกษตรกรได้ทราบถึงความสำคัญและคุณค่าของจิ้งหรีด สร้างมูลค่าเพิ่มจากการเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีด โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยประสานงานกับภาคราชการ และภาคส่วนต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ปัจจุบันได้ขยายไปอีก 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู สกลนคร บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ ภายในงานมีการนำผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีดมาให้ได้ลองรับประทาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงโอกาสและศักยภาพในการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดสำหรับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต
ปัจจุบันจิ้งหรีดเป็นที่นิยมเลี้ยงและบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป หรืออียู ได้ปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ เปิดโอกาสให้นำเข้าแมลงเพื่อบริโภค จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกว่า 700 ตัน จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท มีฟาร์มจิ้งหรีดกว่า 20,000 แห่ง ทั่วประเทศ เพราะจิ้งหรีดเลี้ยงง่าย ลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่ และน้ำน้อย สามารถสร้างรายได้ 7 รอบต่อปี
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จิ้งหรีดเป็นอาหารแห่งอนาคต เนื่องจากเพาะพันธุ์ง่าย ราคาถูก มีโปรตีนสูง มีสารอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลต่อต้านการติดเชื้อจากยีสต์ในระบบทางเดินอาหาร และมีไฟเบอร์สูง คนไทยกินแมลงมานานแล้ว
ตอนนี้เริ่มนำมาเลี้ยงเป็นฟาร์ม โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขึ้นมาพร้อมส่งเสริมจิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นอาหารในอนาคตสำหรับโลก เพราะปัจจุบันเป็นที่นิยมบริโภคในรูปแบบต่างๆ เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา ดังนั้นมมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบปลอดภัยและได้มาตรฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมจิ้งหรีดจากในและต่างประเทศแก้ปัญหาความยากจนในภาคอีสาน