ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาหวิดล่ม ‘พรเพชร’ ยื้อเกือบสองชั่วโมงเข็นองค์ประชุมครบ ด้าน ‘จิรายุ’ ท้วงหลังยกพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ตัดหน้าพ.ร.บ.การศึกษาฯ เหตุใดไม่เป็นตามระเบียบเดิม ติงใครคุมเสียงข้างมากได้ก็ทำผิดธรรมเนียมรัฐสภา ด้าน ส.ว. ‘ตวง-สมชาย’ เห็นพ้องหนุน พ.ร.บ.การศึกษาฯ พิจารณาก่อน พรุ่งนี้ค่อยถก พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ‘นิโรธ’ อัดปธ.รัฐสภาควรใช้ดุลยพินิจในการจัดระเบียบวาระ

วันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกำหนดเดิมการประชุมจะต้องเริ่มต้นในเวลา 09.00 น. โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา นั่งเป็นประธานการประชุม แต่บรรยากาศช่วงเช้าในห้องประชุมค่อนข้างเงียบเหงา ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจนสามารถเปิดประชุมสภาได้ในเวลา 11.00 น. โดยมีจำนวนสมาชิกรัฐสภาลงชื่อมาประชุมจำนวน 358 ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งคือจำนวน 334 คน จากจำนวนทั้งหมด 667 คน 

ทั้งนี้การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง ‘พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ’ ซึ่งค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 โดยมี ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลาการประชุมครม.เพื่อมาชี้แจงต่อที่ประชุม 

ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงว่า รู้สึกแปลกใจที่ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ถูกนำมาพิจารณาก่อน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ทั้งที่ตามระเบียบเดิมนั้น พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ต้องพิจารณาต่อจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ ดังนั้นกลวิธีของรัฐสภาเวลาประชุมร่วม คิดว่าอะไรที่ไม่พึงพอใจก็ใช้อำนาของประธานรัฐสภา ก็ใช้วิธีการเชิญประชุมแบบนัดพิเศษ สมมติว่าตนเป็นรัฐบาลเสนอ พ.ร.บ. ฉบับหนึ่งขึ้นมา แม้ในสภาคัดค้าน แต่เบรคไว้ก่อนแล้วนำเอาเรื่องอื่นเข้ามา ต่อไปนี้ใครเป็นรัฐบาลคุมเสียงข้างมากได้ก็ไม่ต้องขอมติวาระ 

จิรายุ กล่าวอีกว่า อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมไม่เรียงระเบียบวาระ จะมีพิเศษทำไมมันมีลูกชิ้นหรือไม่ ทำไมจึงไม่พูดคุย ต่อไปนี้บันทึกจิรายุไว้ให้ดี ถ้าใครคุมเสียงข้างมากได้ก็จะใช้วิธีการกำหนดระเบียบวาระเป็นประชุมพิเศษเช่นนี้ ถ้าตนมีเสียงข้างมาก มันพูดยากว่าจะไม่เกี่ยวการเมืองเพราะก็มาจากพรรคการเมือง แต่การทำตามแต่ใจเสียงข้างมากก็ไม่ต่างกับเผด็จการรัฐสภา 

ด้าน สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ตนมีความต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ขึ้นมาพิจารณาต่อจากก่อนหน้านั้น เพระเป็นกฎหมายปฏิรูปซึ่งหวังว่าเราจะได้รับความร่วมมือของที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่ ตวง อันทะไชย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเราต้องตกลงกัน ถ้าเราไม่ตกลงกัน ไม่คุยกันก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดธรรมเนียมใหม่ และเป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภา ระเบียบวาระที่วางไว้ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. เห็นชอบแล้วคือให้พิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาฯ ก่อน พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และต่อด้วย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ 

ขณะที่ นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตนมองว่าการใช้ดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ตามข้อบังคับที่ 15 ที่ระบุว่า ให้ประธานจัดระเบีบบวาระได้ ถ้าเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนก็ให้นำมาพิจาณาก่อนได้ ซึ่งประเด็นการพิจาณาเรื่องเร่งด่วนตนเห็นด้วยกับ จิรายุ และมองว่า การใช้ดุลยพินิจของประธานควรถ้วนถี่มากกว่านี้ เรื่องใดเร่งด่วนก็ต้องคำนึงถึงประเพณีหารือร่วมกันระหว่าง วิปส.ว. และวิปซีกสภาผู้แทนฯ 


‘ธนกร’ เสนอหลักการและเหตุผล พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ

เวลาประมาณ 12.30 น. ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการ และเหตุผลว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีสาระสำคัญว่าด้วย การจัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรอง และติดตามกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน 

โดยกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชน ตลอดจนกำหนดกลไกการรับข้อร้องเรียนและการพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชนอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน รวมทั้งกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชน ถูกละเมิดเสรีภาพ หรือได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน เพื่อให้การทำหน้าที่ของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเหมาะสม อันจะทำให้ประขาชนได้รับข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

โดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มต้นอภิปรายคนแรกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ากันในประเด็นแรกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวลงชื่อโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 ก.ย. 2565 ซึ่งเข้าใจว่าเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และอยากรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับทราบแล้วหรือยัง จนทำให้บางครั้งการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กระทบต่อพี่น้องสื่อมวลชนโดยไม่รู้ตัว 

ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการอ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 ว่าเป็นเหตุ และผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมาตรา 35 มีทั้งสิ้น 6 วรรค แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับหยิบมาแค่ 1 วรรคซึ่งระบุแค่เรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมวิชาชีพ แต่รายละเอียดที่เหลือโดยเฉพาะเรื่อง ประกันสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะเหตุใดถึงไม่มีข้อความแบบนั้นอยู่ในเหตุและผล จึงสรุปได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงปก บอกว่าส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน และ แต่เนื้อหาเป็นการควบคุมการทำหน้าที่ของพี่น้องสื่อมวลชน และจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน 

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ประการที่สาม วันนี้ระบุได้ไหมว่ามีบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนจำนวนประมาณเท่าไหร่ แม้ในร่าง พ.ร.บ. จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่มันน่าเจ็บใจที่มีการรับฟังความเห็นเพียง 1 ท่านเท่านั้น และมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะให้อำนาจคณะกรรมการจริยธรรมที่พิจารณาเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน สามารถแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป วันนี้เรามีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 112 พูดก็ไม่ได้ สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวไม่ได้ ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแจ้งความร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชนใช่หรือไม่