ไม่พบผลการค้นหา
‘ชวน’ เข็นที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ขึ้น หลังยื้อเวลากว่า 3 ชม. สมาชิกแสดงตนเพียง 308 คน หลัง ‘สมชาย’ ส.ว. เสนอลงมติชี้ขาดญัตติจัดระเบียบวาระการประชุม พบ ส.ว. ลาประชุม 90 คน ส.ส. ลา 15 คน เป็นการล่มรอบที่ 4 ของปี

วันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่อาคารัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม 

โดยที่ประชุมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการรอองค์ประชุม จนกระทั่งเวลา 11.00 น. ประธานรัฐสภาสามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมแสดงตนจำนวน 342 คนจากที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งจำนวน 334 คน 

อย่างไรก็ตามก่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เสนอญัตติการจัดระเบียบวารพิเศษชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งค้างจากวันพุธที่ 25 ม.ค. 2566โดยเสนอให้มีสมาชิกรัฐสภามีการแสดงตนเพื่อลงมติเพื่อรับเป็นญัตติหรือไม่ 

ระหว่างนั้น ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานวิปรัฐบาล ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ได้ดำเนินการอภิปรายไปแล้ว หากสมชายถอนญัตติได้ก็จะเป็นประโยชน์เพื่อพิจาณาญัตติอื่นๆ ที่ค้างอยู่ต่อไปได้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากฎหมาย อีกทั้งที่ประชุมร่วมกับ 3 ฝ่าย มีข้อสรุปว่าจะใช้เวลาในเรื่องนี้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ สมชาย ยังยืนยัน ที่จะเดินหน้าขอลงมติในญัตติดังกล่าว ประธานในที่ประชุมจึงเรียกนับองค์ประชุมในเวลา 11 นาฬิกา 28 นาที

ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องระเบียบวาระตนได้เป็นผู้เปิดประเด็นว่า การประชุมกรณีพิเศษมันควรจะเป็นช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม หรือภาวะจำเป็น แต่ทั้งนี้เวลาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องใหญ่จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า 

จนกระทั่งเวลา 12.00 น. ซึ่งใช้เวลากว่า 30 นาที ประธานรัฐสภาจึงได้ปิดการแสดงตนโดยก่อนเปิดเผยตัวเลขการแสดงตน ประธานรัฐสภาได้กล่าวว่า ได้รอเวลาจนถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเวลาทุกนาทีมีค่า ทุกคนก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยผู้ที่ได้ลาการประชุมในครั้งนี้มี ส.ว. จำนวน 90 คน ในขณะที่ ส.ส. ลาการประชุม 15 คน ดังนั้นจำนวนผู้แสดงตนทั้งสิ้นจึงมี 308 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และได้สั่งปิดการประชุม

รัฐสภาล่มไปแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่เปิดปี 66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เปิดศักราชปี 2566 เป็นต้นมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาองค์ประชุมได้ล่มลง 4 ครั้งแล้ว  โดยครั้งแรก วันที่ 11 ม.ค. 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยองค์ประชุมไม่ครบในการลงมติขณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

รัฐสภาล่มเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ขณะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธารการประชุม ได้แจ้งให้สมาชิกกดบัตรแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม แต่มีสมาชิกแสดงตนเพียง 181 คน จากจำนวนองค์ประชุมที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งคือ 334 คน จากทั้งหมด 667 คน ทำให้ต้องปิดการประชุมทันที

ครั้งที่ 4 คือวันเดียวกันนี้ (8 ก.พ. 2566) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มในระหว่างพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ โดยประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติในญัตติที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เสนอญัตติการจัดระเบียบวารพิเศษชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งค้างจากการประชุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 โดยผู้แสดงตนทั้งสิ้นจึงมี 308 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมทันที