วันที่ 12 ม.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ยื่นถามกระทู้สดด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยมี ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้
โดยจิรายุ ได้ตั้งคำถามขึ้นว่า คนที่อยู่บนบัลลังก์ผู้ชี้แจงว่า ที่เห็นอยู่นั่นคือนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ เพราะเห็นหน้าตาละม้ายคล้ายกัน และมาตอบชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ขอให้กล้องช่วยจับไปที่บัลลังก์ด้วย
“ตั้งแต่มีสภาฯ มา ไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีมาตอบเลย จึงไม่รู้ว่ามีนายกฯ ของประเทศไหน แต่ไม่เป็นไร เมื่อท่าน ธนกร วังบุญคงชนะ ของผม หีบทองหล่นใส่เท้าบวมเป็นรัฐมนตรีแล้วเนี่ย ก็อยากจะสอบถามท่านเรื่องบริหารราชการแผ่นดิน วันก่อนผมก็ถามท่านว่าเป็นรัฐมนตรีแล้ว ทำอะไรบ้างเพื่อชาติบ้านเมือง วันๆ เห็นแต่เป็นวอลเปเปอร์หลังท่านนายกฯ ปะฉะดะกับฝ่ายค้านแทนนายกฯ”
จากนั้น จิรายุ ได้สอบถามเรื่องแต่งตั้งบุคคลเป็นที่ปรึกษานายกฯ ในห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ชี้ว่าไม่เหมาะสม หลังทนายกฯ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว จึงขอถามว่าเหมาะสมหรือไม่กับการใช้ระเบียบราชการแผ่นดินในลักษณะเช่นนี้ ใช้กฎใดเป็นที่ตั้ง และแต่งตั้งที่ปรึกษามาก่อนเวลาเลือกตั้งไม่นาน จะทำอะไรได้ จริงอยู่ที่รัฐบาลในอดีตก็มีการแต่งตั้ง แต่ไม่ใช่เวลาก่อนการเลือกตั้งไม่นานเช่นนี้
“กฎหมายที่ตั้งที่ปรึกษาไม่มีสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากบารมี และกล้าม ที่ไปเบ่งกับข้าราชการได้ เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรีบอกว่า มีหน้าที่คุมกรมประชาสัมพันธ์ ท่านได้โปรดปลดอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย แล้วท่านก็ไปควบอีกตำแหน่งเลย จะได้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน”
จิรายุ ชี้ว่า ที่ปรึกษาของนายกฯ ส่วนใหญ่ก็ไปเป็นกรรมการบริหารของพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว แม้จะชี้แจงไปว่าไม่ได้รับเงินเดือนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ แต่ประชาชนส่วนมากก็ไม่รับรู้ถึงความแตกต่าง และในคำสั่งนายกฯ ยังระบุให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาฯ ตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักนายกฯ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบและเบิกจ่ายสำนักนายกฯ
“ถ้าท่านที่ปรึกษา 5-6 คน แม้ไม่มีเงินเดือน ไปตรงไหน ใช้เงินมากกว่าเงินเดือน ฝ่ายค้านก็เอามาแฉในที่ประชุมสภาฯ ได้แน่นอน” จิรายุ กล่าว
'ธนกร' โต้แต่งตั้งเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลอื่นก็ทำ
ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีตอบชี้แจงว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษานายกฯ มีสองแบบ แบบแรกคือเป็นตำแหน่งทางการเมือง 5 อัตรา ได้รับเงินเดือนอัตราละ 57,660 บาทต่อเดือน 15,000 บาทต่อเดือน มีหน้าที่ตามที่นายกฯ มอบหมาย และแต่งตั้งโดยผ่านความเห็นชอบของ ครม. ปัจจุบันมี 4 ท่าน
และอีกแบบคือ การแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ข้าราชการทางการเมือง นายกฯ ไม่มีกรอบอัตราหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ สามารถใช้คำสั่งนายกฯ แต่งตั้งได้เลย ปัจจุบันมี 6 ท่าน ได้แก่ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ชุมพล กาญจนะ ดิสทัต โหตระกิตย์ เสกสกล อัตถาวงศ์ และ ชัชวาลล์ คงอุดม
“ต้องขอโทษด้วยที่ผมอาจจะโชคดีไปหน่อยที่นายกฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีก่อน และหลายสิ่งอย่าง ทำไมผมต้องออกมาชี้แจง ผมเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็ต้องเข้าใจว่าผมกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ในการชี้แจงผลงานต่างๆ ของรัฐบาลเป็นปกติ” ธนกร กล่าว
ธนกร ระบุว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกรัฐบาล ตั้งแต่อดีตในสมัยรัฐบาลของ ทักษิณ หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ตั้งที่ปรึกษาเป็น 15-16 คน จึงถือเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่แต่งตั้งมาก็มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้นายกฯ ได้ปรึกษาราชการ อีกทั้งประเด็นเหล่านี้เสนอผ่านสื่อมวลชนไปนานแล้ว มีการชี้แจงไปหลายครั้ง เห็นว่าเสียเวลาสภาฯ ที่ต้องมาตอบเรื่องนี้
“อย่ามองสิ่งที่ยังไม่เกิด เหมือนที่ท่านเคยพูดเสมอว่า ฝนตกอย่าเพิ่งกางร่ม ต้องให้โอกาสที่ปรึกษาได้ทำงาน ส่วนถ้าท่านไปทำผิดอะไร ท่านก็ใช้อำนาจหน้าที่ในสภาฯ ไปตรวจสอบเลย ว่ากันไปตามกฎหมาย ผมก็ยืนยันมาตลอดว่า รัฐบาลก็อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ใครทำผิดก็ต้องรับโทษอยู่แล้ว” ธนกร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการถามกระทู้ จิรายุ ได้เรียกชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ผิดเป็น พรรครวมไทยสร้างหนี้ หลายครั้ง ก่อนจะได้ถอนคำพูดไปในเวลาต่อมา ทำให้ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานต้องเตือนว่า ขอให้ลดการใช้คำพูดเสียดสีและไม่เกี่ยวกับกระทู้
โดยจิรายุ จึงตอบว่า ตนได้หลุดปากเรียกผิด เพราะหลายคนเรียกชื่อพรรคแบบนี้ ก็เหมือนที่ ศุภชัย เคยหลุดปากบนเวทีปราศรัย ซึ่ง ศุภชัย แย้งว่า นั่นคือการปราศรัยบนเวทีการเมือง ไม่ใช่การอภิปรายในสภาฯ