ฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แถลงรายละเอียดการสั่งปิดและลบบัญชีผู้ใช้ปลอมในจีน ที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการประท้วงฮ่องกง โดยระบุว่า การสอบสวนครั้งนี้เป็นความร่วมมือด้านการแบ่งปันข้อมูลระหว่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังจากพบความเคลื่อนไหวผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้กลุ่มดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดกฎการใช้งานของชุมชนออนไลน์
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านนิวส์รูมของเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า Removing Coordinated Inauthentic Behavior From China เมื่อ 19 ส.ค. โดยระบุว่า เฟซบุ๊กสั่งปิดบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 5 ราย แฟนเพจ 7 เพจ และกลุ่มสนทนา 3 กลุ่ม ซึ่งตั้งขึ้นและดำเนินการในจีน มีผู้ติดตามตั้งแต่หลักพันจนถึงสูงสุดกว่า 15,000 ราย มีพฤติกรรม 'สมรู้ร่วมคิดกัน' เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนความจริง และนำผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไปยังเว็บไซต์ภายนอกที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลโจมตีการประท้วงฮ่องกง
เฟซบุ๊กยังได้เผยแพร่ภาพจากบัญชีและแฟนเพจที่ถูกสั่งปิดไป แสดงให้เห็นภาพตัดต่อและข้อความที่กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมฮ่องกงเป็นกลุ่มสุดโต่ง เปรียบเหมือนกลุ่มก่อการร้ายไอเอส และบางภาพยังระบุด้วยว่าผู้ประท้วงฮ่องกง คือ 'กองทัพแมลงสาบ' พร้อมคำบรรยายว่า 'จงมองความจริง'
'อดัม ซีเกิล' ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายดิจิทัลและไซเบอร์สเปซ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับ 'นิวยอร์กไทม์ส' ว่า การเคลื่อนไหวโจมตีด้านข้อมูลข่าวสารครั้งนี้ น่าจะต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มชาวต่างชาติที่จับตามองสถานการณ์ในฮ่องกง หรือผู้อาศัยในฮ่องกงที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
ส่วนทวิตเตอร์ เผยแพร่รายงาน Information operations directed at Hong Kong ในบล็อกทางการของบริษัท อธิบายว่า บัญชีทวิตเตอร์ในจีนที่ถูกสั่งปิดไปช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 936 บัญชี ซึ่งมีหมายเลขไอพีบ่งชี้ว่าเป็นการใช้งานทวิตเตอร์ผ่าน 'เครือข่ายเสมือนส่วนตัว' หรือ VPN ที่เป็นเครื่องมือสำหรับใช้งานเว็บไซต์ที่ถูกบล็อก สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนสั่งบล็อกทวิตเตอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่
นอกจากนี้ บัญชีทวิตเตอร์บางส่วนที่ถูกปิดไปแล้วนั้น เคยเข้าใช้งานทวิตเตอร์ผ่านเครือข่ายที่ "ไม่ได้ถูกปิดกั้น" ในจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นเบาะแสว่าบัญชีทวิตเตอร์เหล่านี้อาจได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งบัญชีทวิตเตอร์เหล่านี้ 'เคลื่อนไหวร่วมกันเป็นเครือข่าย' ส่งข้อมูลสแปมให้ผู้อื่น สร้างบัญชีปลอมในการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และละเมิดคำสั่งแบนของทวิตเตอร์ ทั���งยังมีผู้เคลื่อนไหวหรือติดตามเครือข่ายเหล่านี้รวมกันกว่า 200,000 บัญชี
เนื้อหาในรายงานของทวิตเตอร์ระบุด้วยว่า ทวิตเตอร์เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งจะไม่มีที่ให้กับ 'การปกปิด' และ 'การชักจูง-ล่อลวง' เพราะเป็นการละเมิดกฎพื้นฐานการอยู่ร่วมกันของชุมชน แต่ก็รู้ดีว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อโน้มน้าวชวนเชื่อคนในสังคมเกิดขึ้นมานานมากแล้วตั้งแต่ก่อนจะมีทวิตเตอร์ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นและภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนไป ขบวนการเหล่านี้ก็ปรับตัวตาม ทวิตเตอร์เข้าใจเรื่องนี้ดี และยืนยันว่าจะต่อสู้กับผู้ไม่ประสงค์ดีที่เข้ามาใช้บริการของชุมชนเรา รวมถึงพัฒนานโยบายการสื่อสารให้มีความโปร่งใส
ท่าทีของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานผู้แทนรัฐบาลของกระทรวงการต่างประเทศจีน ประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประณามนักการเมืองสหรัฐฯ บางรายว่าสมคบคิดกับ 'พวกสุดโต่ง' และ 'ผู้ก่อความรุนแรง' ในฮ่องกง ซึ่งสำนักข่าวซินหัวไทยรายงานว่า เป็นการตอบโต้แถลงการณ์ของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลจีนหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมฮ่องกง ซึ่งทางการจีนระบุว่า "เป็นข้อกล่าวหาที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง" พร้อมระบุว่านักการเมืองสหรัฐฯ เป็นพวกสองมาตรฐานที่มีอคติ
นอกจากนี้ ปีเตอร์ พอเมอรานต์เซฟ ผู้เขียนหนังสือ This is not Propaganda กล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทม์ส ว่าวิธีการต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารของฝั่งรัฐบาลจีนและกลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงทวีความรุนแรงขึ้น เพราะฝั่งผู้ประท้วงฮ่องกงเคลื่อนไหวด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เป็นทั้งช่องทางนัดหมายและเผยแพร่ความคืบหน้าในการชุมนุม ส่วนทางการจีนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์กับรัฐ แต่ในบางครั้งอาจเป็นการบิดเบือนข้อมูล เช่น สำนักข่าวพีเพลส์เดลีซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน เผยแพร่การ์ตูนบ่งชี้เป็นนัยว่าผู้ชุมนุมฮ่องกงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น 'ผู้สุมไฟ'
Fueling the fire #HongKong (Pic: ChinaDaily) pic.twitter.com/pFeK6i4x1a
— People's Daily, China (@PDChina) August 10, 2019
อย่างไรก็ตาม พอเมอรานต์เซฟไม่เรียกการต่อสู้เชิงข้อมูลข่าวสารระหว่างจีนและฮ่องกงว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda เพราะทั้งคู่ไม่ได้หวังผลโน้มน้าวให้ผู้รับสารเชื่อหรือยอมรับข้อมูลของฝ่ายตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการใช้วิธี 'ละเลงข้อมูล' ให้เกิดความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ซึ่งจะมีผลให้ผู้รับสารเกิดข้อสงสัย ไม่เชื่อในข้อมูลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดง่ายๆ
เมื่อผนวกกับการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนจากกลุ่มที่ต้องการทำลายชื่อเสียงฝ่ายตรงข้าม จะยิ่งส่งผลให้คนเกิดความไม่เชื่อถือและไม่ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: