8 ม.ค. นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ กลายเป็นผู้นำชาติอาเซียนคนแรกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยวัคซีนที่นายกฯสิงคโปร์ได้รับฉีดเป็นของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ขณะเดียวกัน 13 ม.ค. โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กลายเป็นผู้นำอาเซียนคนที่สอง ที่เข้ารับวัคซีนโควิดเข็มแรกของซิโนแวค
อินโดนีเซียเป็นชาติแรกที่อนุมัติใช้วัคซีนโคโรแวค ของบริษัทซิโนแวคอย่างเป็นทางการ พร้อมเริ่มแจกจ่ายให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศแล้วจำนวน 3 ล้านโดส ส่วนสิงคโปร์ประเทศซึ่งมีประชากรราว 5 ล้านคน ได้สั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตสามรายคือ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา และซิโนแวค สำหรับแจกจ่ายให้พลเมือง และผู้มีถิ่นพำนักถาวรทุกคนในรูปแบบสมัครใจฟรี
ในบรรดาวัคซีนที่หลายประเทศเริ่มใช้ วัคซีนซิโนแวคของจีนยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยเชิงประสิทธิภาพ แต่สิงคโปร์กลับเลือกวัคซีนชนิดนี้เป็นหนึ่งในวัคซีนที่เตรียมแจกจ่ายแก่ประชาชนในอนาคต
ลอว์เรนซ์ หว่อง ประธานร่วมในคณะทำงานของด้านโควิด-19 ของสิงคโปร์ เผยตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ในรายการ Talking Point ทางสถานีโทรทัศน์แชลแนลนิวส์เอเชีย อธิบายว่า ย้อนไปช่วงเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ขณะนั้นคณะทำงานได้เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในการคัดเลือกวัคซีนแล้ว แม้ว่าไม่มีข้อมูลผลการทดลองทางคลินิก ว่าวัคซีนจากผู้วิจัยรายใดมีประสิทธิภาพสูงสุด มีเพียงข้อมูลการวิจัยในระยะเบื้องต้นเท่านั้น
คณะทำงานของสิงคโปร์ได้คัดเลือกวัคซีนจากผู้วิจัยหลายแห่งทั่วโลกราว 35 ชนิด กระทั่งสุดท้ายคัดออกจนเหลือเพียงวัคซีนจากผู้วิจัย 3 รายที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่ามีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยสูงสำหรับใช้กับพลเมืองสิงคโปร์ "แม้มีวัคซีนสามชนิด แต่นั่นยังไม่ใช่จุดจบ" หว่องกล่าว
ไฟเซอร์ กับโมเดอร์นา เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่สกัดนำโปรตีนดีเอ็นเอบางส่วนของไวรัสโคโรนา มาทำวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การทำวัคซีนรูปแบบนี้เป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในวงกว้างมาก่อน
ส่วนวัคซีนของซิโนแวค เป็นวัคชีนชนิดเชื้อตาย (Viral vector) เป็นการนำเชื้อโคโรนาไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอลงแล้วไม่ก่อเกิดเกิดโรค มาทำวัคซีน ซึ่งวิธีนี้เป็นรูปแบบการทำวัคซีนแบบเก่าที่แพร่หลาย แอสตราเซเนกาก็เป็นวัคซีนชนิดนี้
รองศาสตราจารย์ เวอร์นอน ลี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อ อธิบายว่า การอนุมัติวัคซีนของสิงคโปร์ไม่ได้ขึ้นกับว่าเป็นวัคซีนชนิดใด โดยก่อนที่จะอนุมัติใช้วัคซีนใดๆในสิงคโปร์จะต้องทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในหลายขั้นตอน ซึ่งในบรรดาวัคซีนทั้งสาม ซึ่งขณะนี้สิงคโปร์อนุมัติใช้ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคเท่านั้น
รศ.ลีอธิบายเพิ่มว่า ในเชิงเทคนิคแล้วไม่ใช่วัคซีนทุกชนิดจะสามารถใช้กับประชากรทุกคนได้ วัคซีนรูปแบบ mRNA ของไฟเซอร์ก็มีข้อจำกัดในแง่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในบ้างราย เช่น อายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ควรฉีด, ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ไม่ควรฉีด
ขณะที่วัคซีนรูปแบบเชื้อตายอย่างของซิโนแวคนั้นมีอาจข้อจำกัดที่น้อยกว่า ดังนั่นจึงจำเป็นที่สิงคโปร์ควรมีวัคซีนชนิดเชื้อตายเพื่อความหลากหลายต่อผู้เข้ารับการฉีด อย่างไรก็ดี คณะทำงานของสิงคโปร์ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่า ทำไมสิงคโปร์จึงไม่เลือกวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนของจีน แต่จากรายงานของสื่อหลายแห่งก่อนหน้าชี้ว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งถูกหลายประเทศจองปริมาณมากที่สุดในขณะนี้ อาจเกิดความล่าช้าในการส่งมอบเนื่องจากไม่อาจผลิตวัคซีนได้ทันตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม หลังมีรายงานจากสำนักวิจัยชีวการแพทย์บูตันตันของบราซิล ที่ออกมาเปิดผลทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีนซิโนแวคว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ซึ่งแทบไม่เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับอนุมัติใช้วัคซีน และมีประสิทธิภาพเกินมาตรฐานของทั่วโลกที่ 50% เพียงเล็กน้อยนั้น หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพของสิงคโปร์ (HSA) ระบุว่า จะตรวจสอบถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะมีการอนุมัติใช้ต่อสาธารณะ โดยสิงคโปร์พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อมูลเชิงประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว
สำหรับวัคซีนซิโนแวคของจีน ซึ่งมีการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครในบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซียนั้น ปรากฎว่ารายงานผลการทดสอบของทั้งสามชาติกลับมีผลประสิทธิภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บราซิลรายงานประสิทธิภาพที่ 50.4% ตุรกีรายงานที่ 91% ส่วนอินโดนีเซียรายงานผลที่ 65%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ที่มา : CNA , straitstimes