สถาบันวิจัยชีวการแพทย์บูตันตัน ซึ่งเป็นหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐเซาเปาโล ได้เปิดเผยรายงานผลการทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของจีน โดยมีประสิทธิภาพเฉลี่ยป้องกันเชื้อได้เพียง 50.4%
การทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครราว 13,000 คนในเมืองแห่งหนึ่งของบราซิล ที่มียอดการระบาดสูงพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนน้อยกว่าที่คาดไว้มาก เมื่อเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนหลอก
ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก และสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่า เกณฑ์เฉลี่ยประสิทธิภาพของวัคซีนควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 50% หมายความว่าตัวเลขดังกล่าวของวัคซีนจีนที่ทดลองในบราซิลเป็นตัวเลขที่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้อนุมัติเพียงเล็กน้อย ซึ่งแทบไม่เพียงพอสำหรับการอนุมัติตามกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของบราซิล และต่ำกว่าอัตราที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามีประสิทธิภาพราว 78%
ตัวเลขประสิทธิภาพดังกล่าวที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมาเล็กน้อยได้สร้างความผิดหวังให้กับท้องถิ่นบราซิลอย่างมาก เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคเป็นหนึ่งในความหวังที่บราซิลวางแผนแจกจ่ายให้ประชาชนในเร็วๆนี้ หลังเผชิญการระบาดที่รุนแรงเป็นอันดับสองจากสหรัฐ
นักวิจัยของสถาบันวิจัยบูตันตัน อธิบายว่าตัวเลข 78% ที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คำนวณจากกลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการน้อย ปานกลาง และอาการหนัก แต่เมื่อรวมกลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการน้อยมากเข้าไปด้วยส่งผลให้ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 50.38%
ตุรกีและอิินโดนีเซีย เป็นอีกสองชาติที่ซิโนแวคมีการทดสอบในระยะที่สาม โดยก่อนหน้านี้ตุรกีรายงานผลทดลองเบื้องต้นว่ามีประสิทธิภาพราว 91% ขณะที่อินโดนีเซียประกาศประสิทธิภาพราว 65%
ริคาร์โด ปาลาซิออส ผู้อำนวยการของสถาบันบูตันตัน ยืนยันว่าวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค และเหตุที่ประสิทธิภาพวัคซีนออกมาต่ำเป็นเพราะการให้วัคซีน 2 โดสห่างกันในช่วงเวลาสั้นๆ
หลังมีการเปิดข้อมูลดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าบราซิลจะเดินหน้าใช้วัคซีนของซิโนแวคหรือไม่ แต่ที่อินโดนีเซียซึ่งสั่งซื้อซิโนแวคล็อตใหญ่ถึง 3 ล้านโดส ได้เริ่มกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนเข็มแรกแล้วในวันนี้ โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นคนแรกผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
ที่มา : brazilian.report , Reuters , Nikkei