ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา บุกไล่โรงงานน้ำตาล – โรงไฟฟ้าชีวมวล อ่านแถลงการณ์ขีดเส้นปิดโรงงานภายในเดือน ก.พ. 2567 บี้ ผวจ. ร้อยเอ็ดให้คำตอบจะให้ทุ่งกุลาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิหรือไร่อ้อย รอดูเศรษฐาจะเดินตามรอย คสช. หรือไม่

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. เวลา 09.00 น. ที่ลานข้างเทศบาลตำบลโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ต.โนนสวรรค์ นัดรวมตัวเพื่อขับไล่อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลออกไปจากพื้นที่ และเรียกร้องให้ผู้ว่าฯร้อยเอ็ดให้คำตอบว่าจะปกป้องผืนแผ่นดินทุ่งกุลาสำหรับเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิโลก หรือจะเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยเพื่อตอบสนองนายทุนที่ละโมบจ้องทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ 

จากนั้นเวลา 11.00 น. เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังบริเวณหน้าสำนักงานบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด พร้อมถือป้ายผ้าระบุข้อความ เช่น “คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” “เราไม่เอาโรงงานน้ำตาล/โรงไฟฟ้าชีวมวล” “ออกไปจากบ้านกู” และ ตะโกนโรงงานน้ำตาล กรับใหญ่ออกไปๆ เป็นต้น โดยระหว่างการเดินทางแกนนำได้มีการปราศรัยช่วงหนึ่ง ว่าหากอีไอเอผ่านหรือโรงงานยังไม่ปิดปีหน้าทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาจะมาชุมนุมปิดโรงงานแน่นอน และเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสำนักงานฯ ได้มีการตั้งเต็นท์และเตรียมกิจกรรมในช่วงบ่ายต่อไป 

“โรงงานน้ำตาล”แปลงร่างหาพื้นที่ก่อสร้างใหม่หลังพื้นที่เดิมตั้งไม่สำเร็จ 

ต่อมาในช่วงบ่ายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสมานฉันท์ฯ เพราะเงื่อนไขตามกฎหมายระบุว่าเมื่อบริษัทชื่อเดิมไม่สามารถตั้งโรงงานตามอายุใบอนุญาตที่ได้รับไปจะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทชื่อเดิมตั้งโรงงานในพื้นที่เดิมได้ ตอนนี้บริษัทสมานฉันฯ มีใบอนุญาตตั้งโรงงานได้แล้ว โดยขออนุญาตใหม่เมื่อเดือน ก.พ.2564 จะหมดอายุลงในเดือน ก.พ.2569 ดังนั้นเขาจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม เพราะครั้งที่แล้วล้มเหลว เขาต้องพยายามให้อีไอเอผ่านในปีนี้ หรือต้นปีหน้าเพื่อให้ก่อสร้างโรงงานได้ทัน และใช้วิธีจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นอีไอเอภายในโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ปิด เพื่อให้ยกมือเป็นเสียงเดียว ไม่จัดเวทีที่ อบต. เทศบาล หรืออำเภอเหมือนกรณีอื่นๆ แต่จัดในพื้นที่ส่วนบุคคล เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เลวทรามที่สุด 

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศอย่างมาก ก่อนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาบริหารประเทศ โรงงานน้ำตาล 2 โรงงาน ต้องตั้งห่างกัน 100 กม. แต่มีการแก้กฎหมายให้ขยับมาเป็น 50 กม. ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ต้องถูกควบคุม ไม่ใช่แค่การตั้งโรงงานอย่างเดียว เพราะหนึ่งโรงงานต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนไร่ และทั่วประเทศต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านไร่ ถ้าใกล้กันจะแย่งโควตาอ้อยกัน  

อัดรัฐบาล “ประยุทธ์” ปล่อยนายทุนอ้อยกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ 

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำคือให้นายทุนอ้อยเบอร์หนึ่งของประเทศคือกลุ่มบริษัทมิตรผลมากำหนดยุทธศาสตร์การปลูกอ้อย อ้างว่าพื้นที่ทุ่งกุลาเป็นนาน้ำฝน ผลผลิตข้าวที่ได้ต่ำ ไม่ควรเป็นนาข้าว ให้เปลี่ยนเป็นไร่อ้อยเสีย ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำชาวบ้าน เหมือนสมัยสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ทุ่งกุลาเป็นที่ทิ้งขยะของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งในยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็จะให้เป็นพื้นที่กาสิโน ตอนนี้เราต้องมาดูน้ำยาของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าจะดำรงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ เอาไว้อย่างเดิม ด้วยการเปลี่ยนท้องนาทุ่งกุลาเป็นไร่อ้อย หรือจะเปลี่ยนนโยบายนี้หรือไม่  

รอดูน้ำยา “รัฐบาลเศรษฐา” จะเดินตามรอย คสช. หรือไม่ 

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหลายจะผ่านระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ 5-6 ปีที่โรงงานน้ำตาลเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เขาต้องการที่ดินปลูกอ้อย 300,500 ไร่ แต่ปัจจุบันได้เพียง 1.4 หมื่นไร่ เพียงพอต่อการหีบอ้อยได้แค่ 3 วัน ตัวเลขนี้ชี้ว่าพี่น้องทุ่งกุลาไม่ใช่หมู แสดงว่าชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยน และผูกผันกับวิถีชีวิตเดิมคือการปลูกข้าวหอมมะลิ อยากเก็บผืนแผ่นดินทุ่งกุลาไว้ให้ลูกหลาน รัฐบาลนี้กำลังส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ ข้าวหอมมะลิเป็นซอฟท์พาวเวอร์มาก่อนรัฐบาลไทยรักไทยจะจัดตั้งรัฐบาลอีก บริษัทน้ำตาลบ้านโป่งที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสมานฉันท์กรับใหญ่อยู่นี่มา 5 -6 ปีไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ แสดงถึงความล้มเหลวของโรงงานน้ำตาล จนต้องไปหาอ้อยจากนอกพื้นที่ทุ่งกุลา ในเมื่อพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ห่างไกลจากทุ่งกุลาและไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยในทุ่งกุลาได้ ดังนั้นจึงต้องย้ายโรงงานไป นี่เป็นข้อเรียกร้องเดียวของพวกเรา วันนี้เรามาสาธิตให้พวกเขาดูว่าถ้าจะยกระดับการชุมนุมเราจะทำต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ฟังข้อเรียกร้องเรา ๆ จะยกระดับขึ้นไป 

“โดยข้อเรียกร้องเดียวคือโรงงานแห่งนี้ต้องย้ายตามไร่อ้อยออกไปเสีย เราจะไม่ประนีประนอมอีกต่อไป ขอฝากบริษัทแห่งนี้ถ้ายังมีสำนึกดีอยู่ก็ให้ย้ายโรงงานออกไป อย่ามาตั้งที่นี่ ปีหน้าเราจะให้โอกาสเป็นเวลา 1 เดือนคือในเดือน ม.ค. ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดถ้ายังมีศักดิ์ศรีอยู่คุณต้องแสดงให้เห็นว่าคุณใหญ่กว่าบริษัทนี้ และต้องมีคำตอบให้กับเราว่าจะเลือกให้ทุ่งกุลาเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิหรือเป็นไร่อ้อย ถ้าไม่ได้คำตอบในเดือน ก.พ. เราจะยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดบริษัทแห่งนี้ และเราจะตั้งหมู่บ้านคนฮักทุ่งกุลาขึ้นที่ผืนแผ่นดินที่นี่ ” เลิศศักดิ์ กล่าว 

ชาวบ้านห่วงโรงงานแย่งน้ำบาดาล-ทำลายอาชีพคนในชุมชน-การจราจรติดขัด-อุบัติเหตุเพิ่ม

นิวาส โคตรจันทึก นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า พี่น้องที่มามีส่วนร่วมในวันนี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้เพื่อถิ่นเกิดของตัวเอง ถ้าสมมติว่าโรงงานมาตั้งได้ ไม่มีที่จะถอนออกไป มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหมื่นตันเป็นแสนตัน โรงงานน้ำตาลไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทั้ง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ อ.ภูเขียว หรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ตนไปดูมาหมดแล้ว มีแต่สร้างเพิ่มไม่มีเล็กลง มีแต่ใหญ่ขึ้น จึงขอขอบคุณพี่น้องที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันในวันนี้ และขอให้เรารู้ว่าเราเป็นตัวแทนที่จะต่อสู้เพื่อลูกหลานไม่ให้เกิดโรงงานที่จะสร้างผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือเรื่องน้ำ โดยเฉพาะน้ำบาดาลของคนในพื้นที่ เพราะโรงงานนี้ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน นอกจากน้ำใต้ดินเท่านั้น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านี้จะต้องใช้น้ำเท่าไร นอกจากนั้นคือปัญหาการจราจรในฤดูหีบอ้อย ตราบใดที่เราสกัดโรงงานไม่ให้สร้างได้ปัญหาจะไม่เกิด เจ้าของโรงงานไม่ได้อยู่กับเรา แต่เอามลพิษมาฝากไว้ที่เรา 

ขณะที่เกียรติศักดิ์ แก้วพิลา จากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา หากมีโรงงานน้ำตาลปัญหาที่จะเกิดขึ้นคืออุบัติเหตุจากรถขนอ้อย ชาวบ้านจะสูญเสียพื้นที่เลี้ยงวัว เกิดสารเคมีจากไร่อ้อย กระทบต่อไส้เดือนที่เป็นรายได้หลักของชาวบ้านเกือบ 1,000 บาทต่อวันก็จะหายไป ทั้งนี้นายทุนเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเขาไม่ได้ให้เราใช้ไฟฟรี นอกจากนั้นยังเกิดการสูญเสียป่าชุมชนจากการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล สุดท้ายภัยแล้งจะมาเยือนเพราะหากปลูกอ้อยคันนาจะถูกทำลายส่งผลต่อการเก็บกักน้ำ นอกจากนั้นคือปัญหาน้ำเสียจากโรงงานที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 และที่สำคัญคือสูญเสียแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่อยู่ในคำขวัญที่เชิดหน้าชูตาของ จ.ร้อยเอ็ด

 ขอรัฐแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำแทนผุดโรงงานน้ำตาล 

หมุน ลุนศร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า หากโรงงานไม่ย้ายออกไป เราจะย้ายมาตั้งหมู่บ้านที่บริเวณโรงงานนี้ และทำอุตสาหกรรมต้มเหล้าจากข้าวหอมมะลิในพื้นที่นี้ เราต้องปกป้องผืนดินทุ่งกุลาที่เป็นทุ่งสีทองเหมือนทองคำ เราต้องพาลูกหลานลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่าให้เขามาสร้างโรงงานน้ำตาลได้ ถ้าเราจะสร้างคือสร้างโรงต้มเหล้าจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เราจะใส่แบรนด์ของเราลงไปให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ 

ด้านหนูปา พิลา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคนฮักทุกกุลากล่าวว่า ที่พวกเราต้องออกมาคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลในครั้งนี้เพราะเราเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่อยากให้เข้ามาทำลายทุ่งกุลาแหล่งอาหารธรรมชาติและแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิขนาดใหญ่ของพวกเรา เราอยากให้ลูกหลานของเราได้อยู่ในพื้นที่ ๆ มีอากาศที่ดี ทั้งนี้ประเด็นที่รัฐควรให้ความสำคัญไม่ใช่การเร่งขยายแหล่งผลิตโรงงานน้ำตาลหรือโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ควรแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลงทุกวัน ข้าวหอมมะลิเราเป็นข้าวหอมมะลิที่ส่งออกทั่วโลกแต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำเลย

แถลงการณ์ขีดเส้นปิดโรงงานภายในเดือน กพ. ปีหน้า  

ต่อมาชาวบ้านได้ทำกิจกรรม “ข้าวหอมมะลิเรืองรอง มรดกสีทอง ของคนทุ่งกุลา” ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่ม โดยตั้งหมู่บ้านทุ่งกุลาขึ้นบริเวณหน้าสำนักงานบริษัทสมานฉันท์ฯ มีการหาบข้าวขึ้นลาน ตีข้าว และคัดเลือกพันธุ์ข้าวหอมมะลิ แม้จะมีโรงงานอ้อยและน้ำตาลเข้ามาในพื้นที่แต่ชาวบ้านก็จะไม่ยอมรับและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมของคนในพื้นที่ จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ประกาศปิดบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ต้นปีหน้า โดยระบุว่า ตามที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้นัดรวมพลปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ พร้อมกันในวันที่ 5 พ.ย. นี้ เพื่อกดดันรัฐบาลให้เพิ่มราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงานให้สูงขึ้นกว่าเดิม ด้วยข้ออ้างว่าต้นทุนการผลิตอ้อยสูงขึ้นมากทั้งจากราคาปุ๋ยและน้ำมัน ถึงขั้นประกาศว่าจะไม่ยอมให้นำน้ำตาลทรายในโควตาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยสัดส่วนร้อยละ 70 ออกมาจำหน่าย เพราะจะทำให้การปลูกอ้อยขาดทุน

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาขอชื่นชมองค์กรชาวไร่อ้อยทั้งหลายที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตน เราจึงขอประกาศในทำนองเดียวกันเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุ่งกุลาว่า หากบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด หรือบริษัทอื่นใดในเครือข่ายของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด หรือบริษัทอื่นใดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่สิงสถิตหรือร่วมหัวจมท้ายกับบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ไม่ยอมยุติโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด หรือบริเวณอื่นใดบนผืนแผ่นดินทุ่งกุลา เราจะทำการปิดสำนักงานบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด อย่างแน่นอน

“เราให้เวลาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ภายในเดือน ม.ค. ปีหน้า เมื่อล่วงเข้าเดือน ก.พ. ในปีเดียวกัน หากไม่ประกาศยุติโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ ต.โนนสวรรค์ หรือบริเวณอื่นใดบนผืนแผ่นดินทุ่งกุลา เราจะทำการปิดสำนักงานบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ด้วยสองมือสองตีนของเราเอง” แถลงการณ์ระบุ