ไม่พบผลการค้นหา
ฟื้นคืนชีพเหมืองทองอัครา ประกาศรับ 'สมัครงาน เตรียมเปิดโรงงานเพิ่ม เน้นคนท้องถิ่นมีสิทธิ์ก่อน แม้เคยถูก คสช. สั่งปิด นานกว่า 6 ปี เหตุก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 วสันต์ เลียลา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เหมืองทองอัคราได้เปิดดำเนินการผลิตแร่ทองคำ อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 โดยได้ใช้โรงงานหมายเลข 2 ในการดำเนินการ ซึ่งมีพนักงาน 289 คน

ขณะเดียวกัน เหมืองทองอัคราก็มีโครงการซ่อมแซมโรงงานหมายเลข 1 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ฝ่ายบุคคลจึงดำเนินการรับสมัครพนักงานเพิ่ม 25 ตำแหน่ง 102 อัตรา เพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินกิจการ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการให้โอกาสสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ชุมชนคนที่อยู่รอบเหมืองทองอัครา

เน้นว่าผู้สมัครต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จะได้รับโอกาสเป็นลำดับแรก และไม่มีการกีดกันในเรื่องเพศ อายุ หรือศาสนา โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศรับสมัครอย่างเปิดเผยบนเว็บไซต์ของบริษัทอัครา และสื่อมวลชนในท้องถิ่น ล่าสุดได้ตั้งจุดรับสมัคร ณ อาคารชุมชนสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 5-8 ก.พ. 67 เวลา 09.00-15.00 น.ของทุกวัน

ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับสมัครงานในรอบนี้ทำให้อนาคตบริษัทอัคราจะมีพนักงานเข้าประจำการประมาณ 400 คน ซึ่งกว่า 90% เป็นคนในพื้นที่ทั้งสิ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ชุมชนคนอยู่รอบเหมืองทองอัครามีรายได้จากเงินเดือนเข้าพื้นที่รวมประมาณ 15 ล้านบาท/เดือน

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการซ่อมแซมโรงงานหมายเลข 1 ก็ได้มีการจ้างงานประมาณ 250-300 คน/วัน รวมถึงส่วนของผู้รับเหมาที่เข้ามาดำเนินงานรายย่อยอีกกว่า 100 คน อีกทั้งพนักงานในส่วนของบริษัท โลตัส ฮอลล์ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัทอัครา ที่ทำงานด้านเครื่องจักรกลก็มีการจ้างพนักงานรวมกว่า 300 อัตราอีกด้วย โดยรวมชุมชนคนรอบเหมืองทองมีทั้งสิ้น 28 หมู่บ้าน หรือที่อยู่รอบๆ เหมืองทองอัครา รัศมี 5 กม. จากเขต ต.เขาเจ็ดลูก-ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร, เขตตำบลท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์, ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ชาวบ้านจำนวนกว่า 1 พันคนจะได้มีงานทำในเหมืองทองอัคราดังกล่าวนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ข้อพิพาท 'เหมืองทองอัครา' กินเวลายาวนาน จนรัฐบาลต้องสั่งปิดเหมืองไปนานกว่า 6 ปี ด้วยเหตุผล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม