นพ. ฮัวควิน คอร์เทียลลา ผู้อำนวยการศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวิศวกรรมชีวการแพทย์และการปลูกถ่ายอวัยวะ สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์เท็กซัส (UTMB) ของสหรัฐ เผยรายงานสรุปผลการทดลองเพาะปอดหมูในห้องวิจัย ก่อนจะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายให้แก่หมูทดลอง พบว่าการเพาะปอดและการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี หลังปอดที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในห้องวิจัย สามารถพัฒนากลไกการทำงานได้ตามปกติ และเมื่อถูกนำไปใส่ไว้ในร่างหมู ก็สามารถทำงานเข้ากับระบบต่างๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี
ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Science Magazine เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคอร์เทียลลาให้สัมภาษณ์กับเดอะเทเลกราฟ สื่อของอังกฤษเพิ่มเติมว่า ปอดหมูที่ถูกเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง เป็นการนำปอดที่คัดเลือกมาฟอกเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ออกไปจนเหลือแต่โครงปอด หลังจากนั้นจึงนำเซลล์ปอดของหมูตัวที่จะทำการปลูกถ่ายอวัยวะมาผสมกับโปรตีนที่จำเป็นเพื่อให้ปอดที่เพาะเลี้ยงสามารถพัฒนากลไกการทำงานจนกลายเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์
การทดลองครั้งก่อนหน้าไม่สามารถทำให้ปอดที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองสร้างเส้นเลือดที่จำเป็นต่อการทำงานของปอดได้ แต่การทดลองครั้งที่สองประสบความสำเร็จ และเมื่อปอดที่เพาะเลี้ยงสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์จึงนำไปผ่าตัดให้แก่หมูทดลอง 4 ตัว พร้อมทั้งรอดูผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ โดยสังเกตอาการในช่วง 10 ชั่วโมง สองสัปดาห์ หนึ่งเดือน และสองเดือน เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและปรับระบบการทำงานของปอดเพาะเลี้ยง พบว่าหมูทั้งหมดที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายปอดมีสุขภาพแข็งแรงดี
คอร์เทียลลาระบุว่า การเพาะปอดในห้องทดลองใช้เวลาประมาณ 30 วัน จึงจะได้ปอดที่แข็งแรงพอจะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่าย และเขาหวังว่าความสำเร็จในการเพาะปอดและการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายปอดหมูทดลองในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้มีการพิจารณารับรองการเพาะปอดมนุษย์เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้ได้ภายใน 5-10 ปีต่อจากนี้
ขณะที่โจน นิโคลส์ หนึ่งในทีมวิจัยและทดลองเพาะปอดและผ่าตัดปลูกถ่ายปอดหมูร่วมกับคณะนักวิจัย UTMB เปิดเผยกับเว็บไซต์ควอร์ตซ์ว่า หมูเป็นสัตว์ที่มีอวัยวะภายในใกล้เคียงกับมนุษย์ และแม้ว่าหมูที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดทั้งหมดจะมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อให้นักวิจัยศึกษา-บันทึกข้อมูลความเปลี่ยนแปลงและการทำงานของปอด แต่การทดลองต่อไปจะต้องปล่อยให้หมูที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดเพาะเลี้ยงในห้องทดลองมีชีวิตอยู่ให้ได้นานกว่าเดิม เพื่อเก็บข้อมูลให้แน่ใจว่าไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรง
ทั้งนี้ การปลูกถ่ายปอดที่ได้จากการบริจาคให้แก่ผู้ป่วยในหลายๆ ประเทศ ต้องใช้เวลารออวัยวะอยู่นาน เฉลี่ยคนละประมาณ 6-10 เดือน หรือหลายปี และเมื่อปลูกถ่ายแล้วอาจจะเกิดกรณีที่ร่างกายของผู้รับบริจาคต่อต้านอวัยวะที่ได้มา บางรายอาจต้องกินยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาอาการไปตลอดชีวิต แต่นักวิจัยคาดหวังว่าการเพาะปอดโดยอาศัยเซลล์เนื้อเยื่อปอดของผู้ที่รอการบริจาคอวัยวะเอง จะช่วยแก้ปัญหาร่างกายต่อต้านอวัยวะบริจาคได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: