ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยในเดนมาร์กค้นพบการทำงานทางพันธุวิศวรรมของรังไข่มนุษย์ในสัตว์ทดลอง ฟื้นความหวังช่วยผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ได้รับการฉายรังสีและทำคีโมฯ ให้สามารถกลับมามีลูกได้

ดร.ซูซานนา พอร์ส หัวหน้าทีมแพทย์วิจัยจากเดนมาร์กระบุว่า การทดลองในห้องปฏิการทางการแพทย์ค้นพบว่า รังไข่เทียมที่เพาะจากเซลล์เนื้อเยื่อนั้น สามารถรักษาเซลล์ไข่ของมนุษย์ให้ยังใช้การได้เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาทางการแพทย์จากโรงมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีสามารถมีลูกได้อีกครั้ง 

ที่ผ่านมา ผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งมักเลือกที่จะใช้วิธีแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือฉายรังสี ซึ่งจะทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งไปด้วย ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ แต่เมื่อรักษาอาการโรคมะเร็งจนหายแล้วจึงค่อยผ่าตัดรังไข่ให้กลับไปทำงานได้ตามเดิม แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย เพราะมีความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะกลับมาอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ ดร.พอร์สและทีมจึงเชื่อว่าการสร้างรังไข่เทียมขึ้นมาใหม่จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดได้ โดยการวิจัยทดลองที่ผ่านมา ใช้วิธีการพันธุวิศวกรรมเพื่อลอกเซลล์ทั้งหมดออกจากเนื้อเยื่อรังไข่ที่ได้รับบริจาค ส่งผลให้รังไข่เทียมมีสภาพคล้ายถุงเนื้อเยื่อที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนและโปรตีนเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงนำเซลล์ไข่ไปเก็บรักษาในรังไข่เทียมดังกล่าวและนำไปฝังไว้ภายในตัวหนูทดลอง ซึ่งหลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ พบว่าเซลล์ไข่ในรังไข่เทียมยังมีสภาพเหมือนเดิมและใช้การได้

ผลการทดลองดังกล่าวถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นความหวังว่าในอนาคต เทคโนโลยีต่างๆ จะสามารถพัฒนารังไข่เทียมให้เก็บรักษาเซลล์ไข่ของมนุษย์ได้สำเร็จด้วยดี แต่คาดว่าการพัฒนาอาจจะต้องใช้เวลานาน 5-10 ปี เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมให้แน่ใจก่อนจะไปสู่การทดลองขั้นต่อไป

ดร.กิลเลียน ล็อกวู้ด ผู้อำนวยการศูนย์บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิดแลนด์ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่นี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงกลับมามีประจำเดือนได้อีกครั้งหลังจากผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ทำลายรังไข่และอาจไม่จำเป็นต้องรับฮอร์โมนทดแทนอีกต่อไป

ที่มา The Guardian / BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: