ไม่พบผลการค้นหา
สื่อสหรัฐฯ จัดอันดับผู้นำทรงอิทธิพลของโลกปี 2018 โดยระบุว่า ผู้นำไม่ได้หมายถึงแค่ผู้นำรัฐบาล แต่รวมถึงคนธรรมดาและกลุ่มคนที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการกระจายอำนาจ โดยคำนึงถึง 'คนส่วนใหญ่' ไม่ใช่แค่องค์กรของตัวเอง

นิตยสารฟอร์จูน ซึ่งเป็นสื่อวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐฯ เผยผลจัดอันดับผู้นำทรงอิทธิพลของโลกประจำปี 2018 เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) โดยระบุว่าประเด็นที่กองบรรณาธิการของฟอร์จูนลงความเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั่วโลกในปีนี้ ได้แก่ การลดขนาดองค์กร กระจายอำนาจ และการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ได้รับการจัดอันดับมีทั้งกลุ่มบุคคลธรรมดาไปจนถึงผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้วิธีคิดหรือนโยบายใหม่ๆ ทั่วโลก

ผู้ได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ กลุ่มนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ในเมืองพาร์คแลนด์ มลรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงโรงเรียนเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา และนักเรียนกลุ่มนี้ได้รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกระดับมาตรการควบคุมอาวุธปืน ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแลกิจการค้าอาวุธในสหรัฐฯ อย่างเข้มงวดขึ้น และการชุมนุมภายใต้แนวคิดนี้ได้ขยายวงกว้างไปยังเมืองใหญ่ในมลรัฐอื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ 

ส่วนผู้นำที่ทรงอิทธิพลอันดับ 2 ได้แก่ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และเมลินดา เกตส์ ผู้เป็นภรรยา โดยฟอร์จูนยกย่องทั้งคู่ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศลซึ่งสนับสนุนการพัฒนายารักษาโรคมาเลเรีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่หลายรายเสียชีวิตทั่วโลก 

metoo

(ทารา เบิร์ก (กลาง) นักกิจกรรมชาวอเมริกัน เป็นผู้ริเริ่มโครงการรณรงค์ #MeToo มาตั้งแต่ปี 2549)

ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการละเมิดทางเพศ #MeToo ซึ่งฟอร์จูนได้กล่าวถึง 'ทารานา เบิร์ก' นักกิจกรรมทางสังคมชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในฐานะผู้ริเริ่มรณรงค์โครงการ #MeToo ต่อต้านการละเมิดทางเพศในที่ทำงานทั่วสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2549 ก่อนกระแสดังกล่าวจะแพร่หลายไปทั่วโลกหลังมีการเปิดโปงการละเมิดทางเพศในอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวู้ดเมื่อปีที่แล้ว

อันดับ 4 ได้แก่ นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นผู้นำรัฐบาลเพียงไม่กี่คนที่ติดอันดับผู้นำทรงอิทธิพลของฟอร์จูนในปีนี้ เนื่องจากเขายืนยันว่าจะไม่ใช้นโยบายทางการทหารในการจัดการกับความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี และย้ำว่าจะต้องใช้วิธีเจรจาทางการทูตเท่านั้น ซึ่งเป็นท่าทีตรงกันข้ามกับรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดก่อนหน้านี้ จนสามารถนำไปสู่การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ คิมจองอึน มุนแจอิน

(การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า)

ขณะที่อันดับ 5 ได้แก่ นายเคนเน็ธ เฟรเซียร์ ประธานบริหารบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติ 'เมิร์กส์' ซึ่งได้รับการยกย่องจากฟอร์จูนในฐานะผู้กล้าวิพากษ์วิจารณ์นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กรณีแสดงความเห็นสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้มีแนวคิดชาตินิยมเหยียดผิวที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยเฟรเซียร์เป็นนักธุรกิจคนสำคัญที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลทรัมป์ แต่เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งทันทีที่ทรัมป์แสดงความเห็นสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว

ส่วนผู้ที่ติดอันดับ 6-50 รายชื่อผู้ทรงอิทธิพลของโลก มีความแตกต่างหลากหลาย มาจากทั้งแวดวงธุรกิจ การเมือง อุตสาหกรรมบันเทิง ความมั่นคง องค์กรพัฒนาเอกชน และนักกีฬา 

ผู้นำทางการเมืองที่ติดอันดับ ได้แก่ หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ติดอันดับ 10 โดยฟอร์จูนระบุว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญที่กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีน และเป็นผู้แนะนำให้จีนหลีกเลี่ยงการทำสงครามการค้าตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งประกาศนโยบายกีดกันการค้า, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ติดอันดับ 13 ในฐานะที่เขาเป็นตัวแปรสำคัญของสหภาพยุโรปที่ผนึกกำลังกับ 'อังเกลา แมร์เคล' นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ช่วยบรรเทากระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยในยุโรป และ 'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 29 ในฐานะผู้นำหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก และเป็นผู้นำที่เน้นนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคมเป็นหลัก

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล หนุนความหลากหลายทางเพศ

(นอกจากเป็นผู้บริหารยุคใหม่ของแอปเปิลแล้ว 'ทิม คุก' ยังเป็นผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศด้วย)

ส่วนผู้นำทรงอิทธิพลในแวดวงอื่น รวมถึงทิม คุก ประธานบริหารบริษัทแอปเปิล ติดอันดับ 14 หลังจากเขาประกาศปรับโครงสร้างองค์กรว่าจะต้องเล็กลงและคล่องตัวขึ้น, เซรีนา วิลเลียม นักเทนนิสหญิงชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ลงแข่งขันเทนนิสตลอดปี 2017 เพราะตั้งครรภ์ ก็ยังติดอันดับ 15 เนื่องจากมีผลงานรณรงค์เรื่องการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง ขณะที่นักกีฬายิมนาสติกหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งออกมาตีแผ่การล่วงละเมิดทางเพศของแพทย์ที่ปรึกษา 'แลรี นาสซาร์' ติดอันดับ 22

ในภูมิภาคเอเชีย มีผู้ได้รับการจัดอันดับหลายรายเช่นกัน ได้แก่ อินทิรา เจย์ซิงก์ ทนายความหญิงชาวอินเดีย ผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ติดอันดับ 20 โดยกรณีของเจย์ซิงก์มีความพิเศษตรงที่องค์กรของเธอไม่ได้มีขนาดใหญ่โต และไม่ได้ว่าจ้างคนทำงานจำนวนมากด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างถิ่นหรือต่างประเทศ ซึ่งเป็นโมเดลที่ฟอร์จูนยกย่องว่าสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรวบอำนาจบริหารไว้กับตัวเอง แต่เน้นการทำงานแบบเครือข่าย

นอกจากนี้ยังมี หม่า จุน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวจีน ติดอันดับ 30 จากการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้รัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาโดยให้คำนึงถึงประชาชนหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

ส่วนเลย์ลา เด ลีมา วุฒิสมาชิกหญิงของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการทำสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ติดอันดับที่ 39 และริดวัน คามิล นายกเทศมนตรีเมืองบันดุงของอินโดนีเซีย ติดอันดับที่ 48 ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้ออกแบบวางแผนแก้ปัญหาการจราจรแออัดและมลพิษทางอากาศในเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: