หลังจากที่กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเตรียมเสนอขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจีนออกไปอย่างไม่จำกัด และเตรียมนำเข้าที่ประชุมสภาประชาชนประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 มี.ค. ที่จะถึงนี้ 'วอยซ์ออนไลน์' จึงชวนมาสำรวจผู้นำประเทศต่างๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในระยะเวลาที่ยาวนานมากๆๆ
'วลาดิเมียร์ ปูติน' ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย
อดีตสายลับ KGB ผู้ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ นอกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเมื่อปี 2515 ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ล้มลงไปกับระบอบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย แต่หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัสเซียในปี 2541 ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2542 ในสมัยของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน
และหลังจากที่เยลต์ซินลาออกจากตำแหน่ง ปูตินก็เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2543 และอยู่ในวาระจนครบ 2 สมัยในปี 2551 หลังจากนั้นก็กลับไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2551-2555 และกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ค. 2555 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาแล้ว ปูตินอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศยาวนานกว่า 18 ปี
นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีการเสนอแก้ไขขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จาก 4 ปีเป็น 6 ปี ซึ่งอาจจะทำให้ปูตินได้ครองเก้าอี้ในตำแหน่งนี้นานออกไปอีก 1 สมัย ทำให้ประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านหลายคนในรัสเซียรวมตัวกันประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ แต่การประท้วงดังกล่าวได้สลายตัวไปอย่างรวดเร็วหลังจากมีการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย
(ประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีอัล-อัสซาดของซีเรีย)
'บาชาร์ อัล-อัสซาด' ประธานาธิบดีซีเรีย
เส้นทางสายการเมืองของ 'บาชาร์ อัล-อัสซาด' ผู้สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองจากฮาเฟซ อัล-อัสซาด บิดาของเขาที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2514 จนกระทั่งฮาเฟชถึงแก่อสัญกรรมในปี 2543 อัสซาดก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคบาธ และได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยปราศจากคู่แข่งทางการเมือง
อัสซาดถือเป็นผู้นำประเทศอาหรับหัวสมัยใหม่ ซึ่งเขาเสนอให้มีการผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎหมายควบคุมสื่อและ กม.จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังประกาศให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน แม้การปฏิรูปของเขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในปี 2550 เขาก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 2 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง
ในปี 2557 บาชาร์ อัล อัสซาด ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีซีเรียสมัยที่ 3 ท่ามกลางสงครามกับกลุ่มกบฎติดอาวุธหลายกลุ่ม ซึ่งการเลือกตั้งในปีนั้นสามารถจัดการเลือกตั้งได้เพียงในเขตภาคกลางและภาคเหนือของซีเรียเท่านั้น
ปัจจุบัน อัสซาดดำรงตำแหน่งมาแล้วเกือบ 17 ปี แต่สถานการณ์สงครามกลางเมืองของซีเรียไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และยังมีการโจมตีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักหน่วงส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นกว่า 465,000 คน นับตั้งแต่มีการสู้กันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ติดอาวุธตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
'อังเกลา แมร์เคล' นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน
เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในปี 2532 'อังเกลา แมร์เคล' ได้เข้าร่วมกลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า 'กลุ่มตื่นตัวทางประชาธิปไตย' หรือ DA ที่มีเป้าหมายต้องการรวมเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกอย่างรวดเร็ว ต่อมากลุ่มนี้ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม 'พันธมิตรเพื่อเยอรมนี' ที่มีแกนนำคือ พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือพรรค CDU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่สุดของเยอรมนี และการเลือกตั้งที่มีขึ้นในปี 2533 แมร์เคลได้รับเลือกเข้าสภาในนามตัวแทนพรรค CDU และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน
จากนั้น เส้นทางการเมืองของแมร์เคลก็ค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2537 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานนิวเคลียร์ ในปี 2531 เธอได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค CDU ก่อนที่จะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค CDU ในปี 2543 และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีครั้งแรกเมื่อปี 2548 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีด้วย
และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2560 แมร์เคลได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนที่ 3 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถชนะเลือกตั้งได้ 4 สมัยติดต่อกัน ต่อจากนายเฮลมุท โคห์ล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของเยอรมนีไม่มีการจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงของประเทศ
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของแมร์เคล คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซน ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวได้ถึง 3% และยังสามารถส่งออกสินค้าได้เป็นอันดับ 1 ของยุโรป ทำให้มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น และทำให้เยอรมนีเป็นเสาหลักที่สำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจยุโรป แมร์เคลได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีแห่งยุโรปในปี 2540 และเป็นผู้นำหญิงคนที่สองต่อจาก 'มาร์กาเร็ต แทตเชอร์' ที่ได้ดำรงแหน่งประธานกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอีกด้วย
'ลีเซียนลุง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
บุตรชายคนโตของ 'ลีกวนยู' บิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ เริ่มต้นเส้นทางการเมืองหลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาในตัวแทนพรรคกิจประชาชนในปี 2527 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีโก๊ะจ๊กตง หลังจากนั้นลีเซียนลุงได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาล ตั้งแต่รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม รัฐมนตรีการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยของลีกวนยู ผู้เป็นบิดา จนถึงสมัยของโก๊ะจ๊กตง นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของสิงคโปร์
ในปี 2547 'ลีเซียนลุง' ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์สมัยแรกและได้รับการเลือกตั้งในสมัยต่อๆ จนปัจจุบันเขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มานานกว่า 13 ปี แล้ว
'ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา
เส้นทางการเมืองของ 'ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจทางการเมืองในกัมพูชายาวนานกว่า 33 ปี เริ่มจากการเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติกัมพูชา หรือ เขมรแดง ตามคำเรียกร้องของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา จนกระทั่งเวียดนามยึดครองกัมพูชาได้สำเร็จ ฮุน เซนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และในปี 2525 ก็ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและเป็นกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน
หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ในการเลือกตั้งปี 2528 พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซน แพ้พรรคฟุนซินเปคของ 'เจ้ารณฤทธิ์' ทำให้ ฮุน เซนได้เป็นเพียงนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของกัมพูชา แต่ทั้งนี้ก็เป็นการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดในวัยเพียง 33 ปี ก่อนที่ในปี 2540 ฮุน เซน ได้ทำการรัฐประหาร และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา จนกระทั่งปัจจุบัน และเป็นการครองอำนาจในตำแหน่งผู้นำประเทศที่ยาวนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในกลางปีนี้กัมพูชาจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน จะได้รับชัยชนะและทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกหนึ่งสมัย หลังจากที่เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ฮุน เซน ได้ยื่นฟ้องร้องพรรคกู้ชาติกัมพูชาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและศาลกัมพูชาได้มีคำสั่งตัดสินยุบพรรคดังกล่าว ทำให้พรรครัฐบาลไม่มีคู่แข่งที่เป็นพรรคใหญ่ ทั้งยังมีคำสั่งห้ามไม่ให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่จะเลือกตั้งกัมพูชาอีกด้วย
'คิม จองอึน' ประธานาธิบดีและผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ
'คิมจองอึน' บุตรชายคนเล็กจากทั้งหมด 3 คนของ 'คิมจองอิล' และเป็นหลานปู่ของ 'คิมอิลซุง' ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลีเหนือ หลังจากที่คิมจองอิลถึงแก่อสัญกรรมในปี 2554 คิมจองอึนได้รับเลือกจากสภาประชาชนเกาหลีเหนือให้ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากบิดาของเขา
คิมจองอึนเกิดในประเทศญี่ปุ่น และเข้ารับการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ คิมจองอึน ต้องปกปิดตัวตนด้วยการใช้นามแฝง และพยายามหลีกเลี่ยงอิทธิพลของตะวันตกด้วยการใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงของชาวเกาหลีเหนือ จนกระทั่งถูกเรียกตัวกลับมายังกรุงเปียงยาง เพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนการทหาร และได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดาอย่างเป็นทางการในปี 2552
หลังจากการขึ้นสืบทอดอำนาจต่อจากบิดา เมื่อปี 2556 คิมจองอึน สั่งประหารลุงแท้ๆ พร้อมครอบครัวทั้งหมด ในข้อหาพยายามควบคุมกองทัพเกาหลีเหนือและต่อต้านผู้นำสูงสุด ในปีที่ผ่านมาเกาหลีได้ทดลองขีปนาวุธหลายครั้ง รวมไปถึงการเดินทางพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งส่งผลทวีความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีให้เพิ่มมากขึ้น
แม้คิมจองอึนจะอยู่ในตำแหน่งมาได้เกือบ 8 ปีเท่านั้น แต่มีแนวโน้มว่าจะยังสามารถกุมอำนาจต่อไปได้อีกนาน เพราะขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับคิมจองอิลผู้เป็นบิดาซึ่งกว่าจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็อายุราว 56 ปี
'สีจิ้นผิง' ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน
'สีจิ้นผิง' เป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เกิดหลังปี 2492 ซึ่งเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมเต็มตัว บิดาของสีจิ้นผิง คือ สีจงชุน เป็นนักปฏิวัติจีนรุ่นเก่าเป็นรองนายกรัฐมนตรีปี 2505 'สีจงชุน' ถูกกล่าวหาว่าไปสนับสนุนการพิมพ์หนังสือนิยายเล่มหนึ่ง ที่มีการเอ่ยชื่อบุคคลต้องห้ามคนหนึ่ง ที่เป็นปรปักษ์กับประธานเหมา ศัตรูของเขาในพรรคคอมมิวนิสต์จึงใช้โอกาสนี้เล่นงานเขา เพื่อให้หลุดออกจากตำแหน่งการเมือง และให้เขาถูกสั่งให้ใช้แรงงานหนัก โดยไปทำงานที่โรงงานผลิตรถแทร็กเตอร์ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
ทั้งนี้ 'สีจิ้นผิง' เริ่มทำงานให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านเคมี จากมหาวิทยาลัยชิงหวา ในปี 2522 หลังจากนั้นในปี 2541 สี ได้ย้ายไปอยู่มณพลฝูเจี้ยนและได้เป็นผู้ปกครองมณฑลฝูเจี้ยนในปี 2542 หลังจากนั้นได้ไต่ขึ้นมาเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียงในปี 2545 และเซี่ยงไฮ้ในปี 2550 และในปีเดียวกันนี้ สีจิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประจำพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ และในปี 2555 สีจิ้นผิงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นประธานคณะกรรมการทหาร และสุดท้ายในปี 2556 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน ต่อจากหูจิ่นเทา
แม้สีจิ้นผิงจะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีมาได้เพียง 5 ปี ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าอดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ หน้าที่อยู่ในตำแหน่งกันคนละ 10 ปี แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.พ.) กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เสนอให้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีออกไปอย่างไม่มีกำหนด และมีแนวโน้มว่าสีจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งข้อเสนอนี้ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสถาปนาอำนาจที่เบ็ดเสร็จให้แก่สีจิ้นผิงครั้งนี้ เหมือนให้สถานะของจักพรรดิจีนในระบอบเก่า
'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายรัฐมนตรีของไทย
"เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 เป็นต้นไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ระบุไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
และปีเดียวกัน ในเดือน ส.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่พลเอกประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่านานที่สุดเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารคนก่อนๆ ของไทย
ปฏิกิริยาจากนานาชาติหลังการรัฐประหารได้เรียกร้องให้ไทยมีการจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวในที่ประชุมนานาชาติหลายเวทีว่าจะเร่งจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2558 และเลื่อนมาจนกระทั่งล่าสุดกล่าวว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562