ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เผยยารักษาไวรัสตับอักเสบซีเข้าระบบแล้ว ผู้ติดเชื้อที่มีผลการตรวจสุขภาพเข้าเกณฑ์การรักษา มีสิทธิใช้ยาได้ จี้ทบทวนระบบการจัดซื้อยา หวั่นซ้ำรอยยาเข้าระบบช้า ทำผู้ป่วยขาดยา-เสียโอกาสในการรักษา แนะสตง.ทบทวนให้ สปสช.จัดซื้อตามเดิม

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.61) โรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการตรวจนับรับยาในระบบการจัดซื้อยารวมของประเทศ ที่เปลี่ยนจากให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดซื้อแทน โดยดำเนินการผ่านโรงพยาบาลราชวิถีนั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า รายการยาที่มีการตรวจนับรับยาในวันที่ 16 และ 17 พฤษภาคมนี้ มียาที่เพิ่มในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติปีงบประมาณ2561คือ ยาโซฟอสบูเวียร์ และยาสูตรรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์/เลดิพาสเวียร์ ซึ่งเป็นยาชนิดเม็ดที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี ที่บริษัทยาต่างประเทศ ให้สิทธิโดยสมัครใจ (Voluntary Licensing -VL) กับประเทศไทย ทำให้ไทยผลิตหรือนำเข้ายารักษาไวรัสตับอักเสบซีจากบริษัทยาชื่อสามัญได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่มีผลการตรวจสุขภาพเข้าเกณฑ์การรักษา จึงมีสิทธิใช้ยาดังกล่าวได้ โดยแพทย์และทีมรักษาสามารถเบิกยาและค่าตรวจจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ คาดว่ายาน่าจะถึงโรงพยาบาลได้ภายในสัปดาห์หน้า

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า การนำยาเข้าระบบควรจะดำเนินการได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 แต่เกิดความล่าช้าจากกระบวนการจัดซื้อยาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ยาเข้าสู่ระบบการเบิกจ่ายยาหลังจากเวลาผ่านไป 6-7 เดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา ซึ่งไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แม้ทางโรงพยาบาลราชวิถี และ อภ.ต้องการจะทำให้เร็ว แต่ติดเงื่อนไขของระเบียบราชการ ที่ทำให้ทุกอย่างล่าช้า ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่มีความซับซ้อน และปัญหาความไม่พร้อมในการจัดตั้งระบบการจัดซื้อยาที่เปลี่ยนมาให้ตัวแทนหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือโรงพยาบาลราชวิถีมาทำการแทน สปสช. ซึ่งมีปัญหากำลังคนและไม่มีประสบการณ์ในการจัดซื้อรวม ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับยาตามนัด

“เราต้องทบทวนว่าระบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพต่อการจัดซื้อยารวม ซึ่งครอบคลุมยากว่า 100 รายการตามบัญชียา จ.(2) หรือรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ของคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่ เพราะหากเขาไม่ได้รับยาอย่างรวดเร็ว และสม่ำเสมอ อาจส่งผลต่อชีวิตได้ รวมถึงถ้าการจัดซื้อยารวมยังไม่ชัดเจน ไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะขาดยาก็อาจเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมบัญชีกลาง และ สธ.ต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดยาจากระบบจัดซื้อยารวมในขณะนี้” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว