ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ประณามไทยที่ส่งนักโทษการเมืองกลับไปให้กัมพูชา โดยย้ำว่าการส่งผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วกลับไปรับโทษอาญา เป็นการละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

หลังจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไทยได้บังคับส่งกลับแซม โสกา ซึ่งถูกกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคม ไปให้กับกัมพูชา ล่าสุดฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็ออกมาประณามทางการไทยที่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปรับโทษอาญา

ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่คลิปวีดิโอที่แซม โสกา ปารองเท้าใส่รูปของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ไม่นานหลังจากนั้นทางการกัมพูชาได้ออกหมายจับเธอในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” ตามมาตรา 494 496 และ 502 ของประมวลกฎหมายอาญากัมพูชา ส่งผลให้เธอต้องหลบหนีจากกัมพูชาเพื่อมาลี้ภัยในประเทศไทย

ระหว่างอยู่ในไทย เธอได้เข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ฮิวแมนไรท์วอทช์จึงมองว่าการบังคับส่งกลับเธอเป็นการละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งห้ามการส่งกลับบุคคลใดไปยังสถานที่ที่ทำให้มีความเสี่ยงจะถูกปราบปราม ทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอย่างอื่น

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่าประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่า แซม โสกาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว แต่ก็ยังส่งตัวเธอกลับไปกัมพูชา ซึ่งมีความเสี่ยงที่เธอจะได้รับโทษจำคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยนายอดัมส์ยอมรับว่าถือเป็นเรื่องน่าเศร้า แม้จะไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลทหารเอาอกเอาใจรัฐบาลเผด็จการเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ควรกระชับความสัมพันธ์ต่อกันโดยเอาผู้ลี้ภัยมาเป็นเหยื่อ

แซม โสกาถูกทางการไทยจับที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พนักงานสอบสวนที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูให้ข้อมูลกับทนายความของแซม โสกาว่า ได้รับคำร้องขอความร่วมมือจากกัมพูชาในคดีของเธอ และในวันที่ 6 มกราคม แซม โสกาก็ถูกดำเนินคดีฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 81 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง

ในวันที่ 22 มกราคม ทนายความของแซม โสกาส่งจดหมายลงทะเบียนไปยังสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแจ้งให้ทางการไทยทราบว่าแซม โสกา ประสงค์จะอุทธรณ์ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และต้องการให้มีบันทึกว่า เธอปฏิเสธที่จะเดินทางกลับกัมพูชา และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทนายความของแซม โสกา ก็ได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทางการไทยได้บังคับส่งกลับแซม โสกาไปยังกัมพูชา แม้จะรู้ว่าสถานเอกอัครราชทูตและ UNHCR ต่างอยู่ระหว่างหาทางให้เธอไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังย้ำด้วยว่าพันธมิตรของประเทศไทยควรร้องเรียนอย่างเป็นทางการและเปิดเผย เกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงจะถูกปราบปราม ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจ และเป็นตัวอย่างที่น่ากังวลว่า ประเทศไทยจะปฏิบัติเช่นเดียวกันกับประเทศผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ อีกมากที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของตน