ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคนรวมตัวกันหน้าสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำออสเตรเลีย-อาเซียน ในซิดนีย์ แสดงความไม่พอใจผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงการสร้างระบอบการเมืองประชาธิปไตย

เอเอฟพีรายงานว่า การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองของเวียดนาม รวมถึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา สมเด็จฮุนเซน ลงจากอำนาจทางการเมือง และรวมไปถึงการเรียกร้องให้นางอองซานซูจีแสดงความรับผิดชอบต่อการกวาดล้างชาวโรฮิงญาของกองทัพเมียนมา

"พวกเรามาชุมนุมกันเพื่อประท้วงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม กัมพูชา ไทยและเหตุการณ์การกระทำที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวโรงฮิงญาในเมียนมา พวกเรามารวมตัวกันเพื่อบอกกับทุกคนว่า สิ่งที่รัฐบาลเหล่านี้ทำนั้นเป็นการไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน" เดวี เหงียน หนึ่งในผู้ร่วมประท้วงชาวเวียดนาม-ออสเตรเลียนกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

000_12O423.jpg

อีกทั้ง ผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในการประชุมครั้งนี้ให้เป็นวาระที่สำคัญก่อนถกในวาระเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นางอองซานซูจี คืนรางวัลโนเบล หลังจากเกิดเหตุการณ์การกวาดล้างชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมาเมื่อช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดวาระพิเศษอาเซียน-ออสเตรเลีย มีผู้นำจากชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมทั้งนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีของเวียดนามรวมไปถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ผู้นำไทยเทียบเชิญนายกฯ ออสเตรเลียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 20 ปี

ด้านผู้นำไทย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 อย่างเป็นทางการ พร้อมกับพบหารือกับนายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ณ ศูนย์การประชุม นานาชาตินครซิดนีย์ ก่อนเริ่มต้นการประชุม โดยเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ว่างเว้นการหารืออย่างเป็นทางการมากว่า 5 ปี 

ประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย

พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมออสเตรเลียที่ริเริ่มในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลียในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญและมุ่งมั่นส่งเสริมความสัมพันธ์กับอาเซียน

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นว่าควรใช้โอกาสนี้ในการเปิดโฉมใหม่ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันและช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรม และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในฐานะที่ไทยจะเป็น ประธานอาเซียนในปี 2562 นอกจากนี้ไทยยังเห็นควรให้เพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารที่มีอยู่แล้ว ให้มากยิ่งขึ้น 

สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ออสเตรเลียนั้น มีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอด โดยความสัมพันธ์จะครบรอบ 70 ปี ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานเอเปค โดยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย ในด้านที่ทั้งสองมีประโยชน์ร่วมกัน พร้อมยังได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน EEC โดยพร้อมดูแล และอำนวยความสะดวก รวมทั้งขอให้ออสเตรเลียช่วยดูแลชุมชนและนักศึกษาไทยในออสเตรเลียด้วย

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสที่ เหมาะสม หลังจากที่ได้เคยเยือนไทยอย่างเป็นทางการมานานกว่า 20 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังได้กล่าวขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุนร่างถ้อยคำในปฏิญญาซิดนีย์และ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสากลระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย รวมทั้งเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันผ่านช่องทางความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น