ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารธนชาต-เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์-ปทุมวันปริ๊นเซส ร่วมจัดงานแจกสับปะรด 16,000 กก. พร้อมชวนผู้รับสับปะรดนำถุงผ้ามาเองเพื่อลดใช้ถุงพลาสติก พร้อมเปิดช่องทางร่วมทำบุญ-บริจาคเงินกับโรงเรียนพระดาบสด้วย

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาสับปะรดตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน ธนาคารธนชาตมีความห่วงใยและตั้งใจจะช่วยบรรเทาวิกฤตดังกล่าว จึงริเริ่มกิจกรรม “เกษตรกรไทย ยังยิ้มได้” โดยร่วมมือกับพันธมิตรได้แก่ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ไปซื้อสับปะรดจากไร่ของเกษตรกรในตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จ.ลำปาง รวม 16,000 กิโลกรัม นำมาแจกฟรีแก่ลูกค้า ชุมชนละแวกใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป 

พร้อมกันนี้ยังร่วมรณรงค์เรื่องลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเชิญชวนให้ผู้สนใจรับสับปะรดนำถุงผ้ามาเอง ภายในงานนอกจากจะแจกสับปะรดเป็นผล ยังมีเนื้อสับปะรด  หวานฉ่ำ น้ำสับปะรดคั้นสด/ปั่น สับปะรดฟรุตสลัด และไอศกรีมแท่งรสสับปะรด มาให้ได้ลิ้มรสกัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มารับสับปะรดร่วมทำบุญตอบแทนสังคม โดยบริจาคเงินตามศรัทธาเพื่อมอบแก่โรงเรียนพระดาบสด้วย

สับปะรดที่นำมาแจกในงานเป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียน้ำผึ้ง ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าหอม หวาน อร่อย คุณลักษณะของสับปะรดพันธุ์นี้คือ ตาค่อนข้างตื้น แกนใหญ่ เนื้อละเอียด และหวานฉ่ำ ซึ่งเกษตรกรที่ธนชาตรับซื้อสับปะรดมานี้ประสบปัญหาอย่างมากเพราะราคาตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท โดยที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการนำไปวางจำหน่ายริมถนนทางหลวงเพื่อระบายไม่ให้เน่าเสียคาสวน 

สับปะรดสับปะรด

“เราหวังว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยระบายสับปะรด และบรรเทาปัญหาของเกษตรกรไทยให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยธนชาตถือเป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งที่ต้องช่วยเหลือและตอบแทนสังคม สำหรับกิจกรรมช่วยชาวไร่สับปะรดครั้งนี้คาดว่าจะแจกสับปะรดให้แก่ลูกค้า ชุมชนละแวกใกล้เคียง และประชาชนทั่วไปได้กว่า 10,000 ราย” นายศุภเดช กล่าว  

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีราคาสับปะรดตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยราคาหน้าสวนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรบางจังหวัดต้องนำมากองแจกจ่ายให้กับผู้บริโภคเพื่อประชดการขาดความเหลียวแลของรัฐบาลนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลงานของรัฐบาลยุค คสช. ไม่เฉพาะสับปะรดเท่านั้นที่ราคาตกต่ำ แต่พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดก็ราคาตกต่ำไม่ต่างกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ข้าวโพด มะนาว 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รับคำสั่งจากนายกฯ ดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาสับปะรดราคาต่ำ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีการประชุมเพื่อวางมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ได้แก่ มาตรการนำสับปะรดส่วนเกินออกจากระบบ โดยการกระจายสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตสำหรับบริโภคผลสด และนำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมโคเนื้อ รณรงค์บริโภคสับปะรดโดยอาศัยเครือข่ายประชารัฐ และการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น 

Sek-สับปะรด

อ่านเพิ่มเติม: