นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไม่พอใจพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่าหากมีคนที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เหตุใดจะมาอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ แต่เขาควรไปอยู่พรรคอื่นนั้นว่า คำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ไม่ผิดหลักการ เพียงแต่ไม่ถูกใจ พลเอกประยุทธ์ เท่านั้น
นายวัชระ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่มีหัวหน้าพรรคการเมือง กล้าพูดตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่หลงอำนาจ วกวน พูดอย่างทำอย่าง ไหลไปเรื่อยๆ และนี่คือการปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีอุดมการณ์ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการไม่ใช่หรือ
สิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดนั้น เพื่อต้องการบอกกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนว่า ถ้าใครสนับสนุนนายกฯ คนนอกก็ไม่ต้องมาที่ประชาธิปัตย์ให้ไปที่พรรคอื่น ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว และเป็นการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนธรรมดาๆ ปราศจากข้อสงสัยใดๆ ถ้าใครมายืนยันสมาชิกพรรคแล้วไปเชียร์นายกคนนอก หรือ รอเป็นงูเห่าโหวตในสภาให้นายกฯ คนนอกก็อยู่ร่วมอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ สมาชิกพรรคต้องหนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เป็นหลักการพรรคการเมืองทั่วไป จึงไม่เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีอารมณ์ของขึ้นไปทำไม หรือไปแตะต่อมอำนาจของท่านเข้า
พล.อ.ประยุทธ์ จำได้ไหมว่าท่านด่านักการเมืองเลวทรามต่ำช้าไม่มีชิ้นดีตลอดเกือบ 4 ปีเต็ม แล้ววันนี้ท่านประกาศตัวเป็นนักการเมืองทำไม ท่านเข้ามาวันแรกก็บอกจะปราบโกงเด็ดขาดจริงจัง ไม่มีนักการเมืองบริหารประเทศกับท่านเลยเกือบ 4 ปี แต่ปรากฏว่ามีการโกงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้แต่เงินของพี่น้องคนยากจน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องบอกให้ดูหลังเลือกตั้งว่าเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดว่าไม่สนับสนุนนายกคนนอก จุดยืนของพรรคไม่มีวันเปลี่ยน นายกฯ อาจถูกใครบางคนหลอกลวงแอบอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนท่านให้เป็นนายกฯ แต่ความจริงแล้วขัดต่ออุดมการณ์พรรคอย่างสิ้นเชิงจึงเป็นแค่ลมลวงของนักการเมืองบางคนเท่านั้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจสูงสุดในวันนี้ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญเสียอีกให้คอยดูว่าหลังหมดอำนาจตาม ม.44 ท่านจะอยู่ที่ไหน จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ที่ท่านเป็นอยู่นั้นคือหัวโขนธรรมดาๆ ทำไมไม่คิดใช้ ม.44 เพื่อประชาชนคนจนทั้งประเทศบ้าง วันๆ คิดแต่จะใช้อำนาจ ม.44 เพื่อเจ้าสัวนายทุนแล้วคิดถึงประชาชนผู้จ่ายภาษีให้ท่านบ้างหรือไม่
ประชาชนทุกคนให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์มาก ให้เกียรติจนประชาชนยากจนไปทั้งประเทศ และยังให้เกียรติให้ท่านปกครองประเทศต่อไป จะท้วงติงอะไรก็ไม่ค่อยฟัง ก็จะรอจนกว่าอำนาจ ม.44 จะหมดอายุลง เพราะทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ฉะนั้นกรุณาอย่าแสดงบทข่มขู่หัวหน้าพรรคการเมืองให้มากไปกว่านี้เพราะทุกคนคือคนเท่าเทียมกัน
'อภิสิทธิ์' แจงปัดพาดพิง 'ประยุทธ์' เสียหาย
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ @Mark_Abhisit ชี้แจงว่า "เข้าใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ได้ดูหรือฟังคำสัมภาษณ์ของผมเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะไม่มีตรงไหนที่ไปพาดพิงถึงใครในทางเสียหายหรือไม่ให้เกียรติใคร การให้ความเห็นว่าผู้ใดจะตัดสินใจสังกัดพรรคใดก็ควรจะยึดมั่นแนวทางที่พรรคนั้นประกาศต่อประชาชน เป็นไปตามหลักการสากลและเป็นการให้เกียรติประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ"
ด้าน นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงผ่านเว็บไซต์ www.mallikafoundation.com ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน ว่า จากความพยายามของฝ่ายกฎหมายรัฐบาล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หาช่องทางใช้อำนาจพิเศษมาตรา44 ยืดจ่ายค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 5 ปี ของบริษัทโทรคมนาคม 2 รายนั้น ไม่เพียงจะเป็นการอุ้มเอกชน หรือเศรษฐีซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทาน และเก็บประโยชน์จากประชาชน หรือผู้ใช้บริการไปแล้ว แต่เอกชนรายหนึ่ง นั้นยังเป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเป็นเจ้ากิจการด้วย เหตุใดฝ่ายกฎหมายที่ชงเรื่องคือทั้งนักกฎหมายใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี กับ ทีม กสทช. จึงนำสิ่งที่ตัวเองบริหารจัดการผิดพลาดและเป็นเรื่องเสี่ยงคุกตารางมายัดใส่มือนายกรัฐมนตรี และ คณะ คสช.
หน้าที่รัฐบาลคือ ตามเอาค่าเสียหายคืนไม่ใช่อุ้มซ้ำ วันนี้ความเสียหายของรัฐในคดีโทรคมนาคม ซึ่งส่วนราชการใส่เกียร์ว่างไม่ยอมปฏิบัติงานทวงคืนเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะเรื่องของวงจรดาวเทียมของไทย ซึ่งศาลมีคำพิพากษา เมื่อกุมภาพันธ์ 2553 ว่ามีการทุจริตจริงและบริษัททีโอที กับ กระทรวงดิจิตอลฯ ต้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทไทยคม และต้องยิงดาวเทียมขึ้นไปทดแทนตามสัญญา ซึ่งยังไม่ได้ทำและกำลังมีกระบวนการโมเมว่าสิทธิ์ในการใช้วงจรดาวเทียมนั้น รำพึงว่าจะให้เอกชนดูแล ซึ่งสิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์ของประเทศชาติไม่ใช่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ประการต่อมา คดีความเสียหายจากการอนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานมือถือ ที่ศาลระบุว่าผู้บริหารต้องชดใช้ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งนั้นเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัททีโอที เรื่องนี้เป็นคำพิพากษาศาลชัดเจนต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้หายไปเฉยๆ เงินหลายหมื่นล้านบาทควรทวงกลับมาช่วยสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ซ่อมถนนหนทางให้คนจนได้ใช้
เพราะว่าคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2553 ระบุให้บริษัทเอกชนนั้นต้องเยียวยาค่าเสียหายให้รัฐรวมทั้งสถานะของวงจรดาวเทียมของประเทศไทยยังเป็นของประเทศชาติไม่ใช่ของเอกชนอย่าปล่อยให้เอกชนมาฮุบเพราะความรู้เท่าไม่ทันหรือเพราะสิ่งใด และดาวเทียมที่จะต้องเอามาทดแทนยังไม่ได้ยิงขึ้นไปตามสัญญา ทั้งสองเรื่องนี้ขอให้รัฐบาลรีบแก้ไขโดยด่วน ประชาชนไม่อยากเห็นกระบวนการ "อภินิหารกฎหมาย" และพฤติกรรม "เหาะเกินลงกา" เกิดขึ้นในประเทศซ้ำซาก