ไม่พบผลการค้นหา
'ส.ว.' ขอ 'ก้าวไกล' ลดเพดาน แก้ ม.112 ชี้อย่าสร้างเงื่อนไขเพิ่มความขัดแย้ง ถามเสนอ 'นิรโทษกรรม' รวมคดีทุจริตด้วยหรือ?

วันที่ 4 ก.ค. 66 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (ส.ว.) และนายสมชาย แสวงการ ประธาน กมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวภายหลังการรับหนังสือจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่มรามคำแหงรักสถาบัน ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจะเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 

เสรี กล่าวว่า เรื่องการโหวตคงต้องดูอีกหลายๆเรื่อง แต่ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นเรื่องหลักและสำคัญในวุฒิสภา ซึ่งแม้จะยังไม่มีการประชุมสภาใหญ่ ก็ส่วนใหญ่ที่ได้มีการพูดคุยกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารประเทศ อีกทั้งยังเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่กระทบกับพระราชอำนาจ 

ด้าน สมชาย กล่าวเสริมว่า ตนไม่เชื่อว่า 14 ล้านเสียง จะต้องการให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกม.112 และสิ่งที่กระทบต่อการล้มล้างรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ ในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นความมั่นคงของชาติ เราพยายามสื่อสารกับพรรคก้าวไกลอยู่แล้วว่าให้ลดเพดานเรื่องนี้ลง เพราะเป็นผลกระทบต่อความสงบสุขของประเทศ ทางส.ว.ได้แสดงเจตนารมณ์หลายครั้งว่าเรื่องเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นฝ่ายการเมืองควรแก้ปัญหาในสภา ง่ายที่สุด คือการอย่าไปละเมิด เอานโยบายมาหาเสียง และไปกระทบกับพี่น้องปนะชาชนกลุ่มที่ไม่ได้เลือก แม้กระทั่งกลุ่มที่เลือกเองก็ไม่ได้เห็นด้วย 

“เรียนไปยังพรรคก้าวไกลว่าเรื่องนี้ เลิกไปเถอะครับ แล้วไปทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในเรื่องที่เขาฝากความหวังมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ที่เขาอยากได้ ใน 300 นโยบาย มีตั้ง 290 กว่านโยบายที่เขาอยากได้ที่ไปหาเสียงไว้” สมชาย กล่าว

สมชาย กล่าวด้วยว่า ยิ่งเมื่อวานตนได้ฟังการแถลงร่วมตนยิ่งหนักใจ เพราะยกระดับในเรื่องวันชาติ การสนับสนุนเรื่องการทำประชามติ รวมถึงการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะ ม.112 ที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่ ทำไมไม่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมว่าไป หรือการแก้ไขกฎหมายบางประการที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตั้งแต่เลือกตั้งมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นการแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้องให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไร ส.ว.ก็รอฟังอยู่ 

“เรื่องนี้เราขอให้ลดเพดานลง ถ้าลดได้ เราก็เดินหน้าประเทศได้ แต่ถ้าเราเดินต่อ ยิ่งเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเรื่อยๆ มันก็นำไปสู่ความขัดแย้ง แล้วก็ทำให้ส.ว.ไม่สบายใจมากขึ้นในการโหวต” สมชาย กล่าว

เมื่อถามว่า การที่ ส.ว.ให้พรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 จะรวมถึงเรื่องวาระการนิรโทษกรรมคดีการเมืองด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องของการเสนอแก้กฎหมาย แต่เป็นกระบวนการที่จะช่วยเยาวชนที่ถูกคดีในปัจจุบัน ซึ่งพวกเราก็ไม่ได้มีอะไรขัดคล่อง เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีผู้ใหญ่ไปให้ท้าย หรือมีนักการเมืองไปสร้างปัญหา ยุยงให้เด็กกระทำผิดจนเสียอนาคต 

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแนงทางที่จะหาทางออกได้คือการนิรโทษกรรม ซึ่งทำให้เด็กเห็นว่า หากมีการนิรโทษกรรม แสดงว่าการที่กลุ่มเด็กๆ ทำไปนั้น ถูกหลอกใช้ตกเป็นเครื่องมือจะได้ไม่กระทำอีก เพราะสังคมไทยพร้อมที่จะให้โอกาสทุกคนอยู่แล้ว และไม่กระทำอีก แต่หากเป็นการเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย และไม่โหวตผ่านอย่างแน่นอน 

ด้าน สมชาย กล่าวว่า ตนเองยังมองว่า การเสนอวาระนิรโทษกรรมไม่ชัดเจนว่าคดีอะไร รวมคดีอื่นๆ เช่น การทุจริตคอรัปชั่นทางการเมือง หรือการเผาทำลายต่างๆ คือการเมืองด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องเอารายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนเรื่อง ม.112 ตนมองว่ากฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เพราะคนไปแจ้งความ สุดท้ายสำนวนก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล ที่ทำ และมีกระบวนพิจารณาต่างๆ รวมทั้งศาลก็มีเมตตาให้ประกัน แต่ก็มีคนยุยงให้มีการหมิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตนจึงมองว่า จะต้องเอาผิดคนยุยงด้วย 

สมชาย กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการปลุกปั่นเพื่อต้องการที่จะดันให้สังคมไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อสถาบันฯ และอาศัยเงื่อนไขที่อ้างว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น และสอดรับกับสิ่งที่พวกคุณเสนอแก้ไข ม.112 ให้ฐานความผิดที่ลดลงไปกว่าบุคคลทั่วไป 

“เราเสนอไปแล้วว่าให้ลดเพดานลง เพราะมันกระทบต่อความไม่สงบสุขของประเทศ มีคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับคุณเยอะมาก มากกว่าคนที่เลือกคุณอีก” 

สมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า ฉะนั้นขอให้หยุดเลยหรือ เลิกได้หรือไม่ แล้วไปทำเรื่องปากท้อง ซึ่งเราเห็นด้วยที่ได้เสียงจากประชาชนมา และมีความคิดสมัยใหม่ในเรื่องเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่ขอเรื่องนี้เรื่องเดียว เพราะประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ควรที่จะนำความคิดของคุณมาผสานกับคนรุ่นใหม่ไปพัฒนาประเทศ แต่หากยังวนอยู่แบบนี้ประเทศก็ไปไหนไม่ได้ ซึ่งในส่วนตัวตนยังมองว่าเรื่องนี้ยังไม่ผ่าน และไม่เห็นด้วย ไม่โหวตให้ผ่าน จนกว่าจะมีการแถลงที่ชัดเจน พูดต่อสาธารณะว่าจะลดเพดานลงให้สังคมเดินต่อไปได้