ไม่พบผลการค้นหา
‘ส.ว.’ รับหนังสือร้องสอบปมหุ้นสื่อ ‘พิธา’ หวังบี้ ‘กกต.’ เร่งส่งเรื่องถึงศาลก่อนโหวตนายกฯ ‘เสรี’ ปัดใช้มาตรฐานเดียวกับปี 2562 ชี้ได้เสียงข้างมากยังไม่พอ ต้องดูพฤติกรรมความเหมาะสมด้วย บอก 14 ล้านเสียงยังถือเป็นส่วนน้อย

วันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารรัฐสภา นพรุจ วรชิตวุฒิกุล ในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ ส.ว. และ ส.ส. ที่ผ่านการรับรอง ร่วมเข้าชื่อหรือลงชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกแต่ละสภาฯ เพื่อยื่นเรื่องกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ถือหุ้นสื่อในวันสมัคร ส.ส. และโอนหุ้นหลังการเลือกตั้งซึ่งมีองค์ประกอบตามคำร้องในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้นำกราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเข้าลักษณะต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ 

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และ สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดย เสรี ระบุว่า เรื่องที่ยื่นมาสอดคล้องกับภารกิจที่คณะกรรมาธิการฯ ของตนดำเนินการอยู่ และจะตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนต่อไป ขณะที่พรุ่งนี้จะมีนัดประชุมร่วมกันกับประธาน กกต. พร้อมมอบเอกสาร

ด้าน สมชาย กล่าวว่า ในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะนำไปพิจารณาในกรรมาธิการฯ และส่งให้ กกต. ส่วนในการให้ ส.ว. รวมชื่อเพื่อยื่นตามมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นเรื่องของ ส.ว. ด้วยกัน ไม่สามารถยื่นร้องตรวจสอบเรื่องของ ส.ส. ได้ อีกทั้ง กกต. ก็มีหน้าที่ในส่วนนี้อยู่แล้ว พิจารณาไม่ยากว่าถือหุ้นหรือไม่

ไม่ว่าจะถือโดยอัตโนมัติ หรือเป็นผู้จัดการมรดก ก็มีระบุในกฎหมายอย่างชัดเจน โดยตนหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรฐานเดิมเหมือนกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อีกทั้งตอนนี้ พิธา ได้เป็น ส.ส.แล้ว ควรเร่งดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อความเป็นธรรม และจะได้ไม่มีปัญหาทางข้อกฎหมาย

ส่วนในการพูดคุยกับ กกต. พรุ่งนี้ จะหารือเรื่องการถือที่ดินของ พิธา ด้วยหรือไม่ เสรี เผยว่า กรณีที่ดินเป็นเรื่องทรัพย์มรดก แสดงให้เห็นถึงวิธีจัดการ ช่วงใด เวลาใด แบ่งอย่างไร แบ่งที่ดินก่อนหุ้นสื่อหรือไม่ และหากจัดการเรื่องแล้ว เหตุใดไม่จัดการเรื่องหุ้นสื่อด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พิธา เรียกร้องให้ ส.ว.ใช้มาตรฐานการโหวตนายกฯ เดียวกับปี 2562 คือไม่ขัดกับมติของสภาผู้แทนราษฎรที่รวมเสียงข้างมากได้ เสรี กล่าวว่าไม่ใช่รูปแบบเดียวกัน จึงใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้

เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏเรื่องคุณสมบัติ หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นเรื่องที่ตนยืนยันมาตลอด คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงต้องใช้ดุลยพินิจ บุคคลต่างกัน ความสำคัญต่างกัน ไม่สามารถใช้มาตรฐานครั้งก่อนในการโหวตได้

เมื่อถามถึงคะแนนของ ส.ว. ที่ พิธา อ้างว่า มีมากพอจะทำให้ตนเป็นนายกฯ เสรี กล่าวว่า ถ้ามากพอ ก็เป็นไปเลย แต่เท่าที่เห็นก็ยังไม่มีออกมาชัดเจน ยกเว้น ส.ว. 17 คนที่ถูกเสนอชื่อ ซึ่งหลายคนในจำนวนนั้นก็ปฏิเสธแล้ว พร้อมย้ำว่า ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสมด้วย

“การได้มา 14 ล้านเสียง ไม่ใช่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ แต่มีข้อเรียกร้องว่าเมื่อได้มาเป็นอันดับหนึ่ง ทำไมถึงไม่ทำตามเสียงของประชาชน ก็ต้องทำความเข้าใจว่าประชาชนมีสิทธิลงคะแนนจาก 50 ล้านคน มาเลือกตั้ง 40 ล้านคน และลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล 14 ล้านคน แสดงว่า 14 ล้านคนนั้นคะแนนเสียงส่วนน้อย และไม่ถึงครึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ เราไม่ได้ขัดแย้งกับ 14 ล้านเสียง แต่เราทำตามเสียงส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตัดสินใจโหวตนายกฯ ของ ส.ว. นั้น เป็นการตัดสินใจเองหรือมีใบสั่ง เสรี ระบุว่า “มีใบสั่งจากประชาชน เพราะประชาชนเลือกมาแค่ 14 ล้านเสียง ไม่ใช่เลือกมาทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หาก พิธา ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ รายชื่อในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นของพรรคอื่น จะทำให้ ส.ว. เลือกโหวตง่าย สบายใจขึ้นหรือไม่ เสรี ระบุว่า ต้องดูว่าเป็นใคร และเลือกบุคคลที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีชื่อเดียวคือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ส่วนพรรคเพื่อไทยต้องดูว่าเสนอใคร ยังรับรองใครไม่ได้ในตอนนี้ ต้องเอามาพิจารณากัน ทุกคนอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน จะยกเว้นใครไม่ได้ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็ตาม ตนมองว่าหากไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถเป็นนายกฯ ได้ทุกคน