ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา' ยืนยัน ปัญหาการเมืองมาจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร เมินคณะกรรมการปรองดอง เชื่อแค่ซื้อเวลา เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง-อำนาจ ส.ว. ก่อนให้ประชาชนหย่อนบัตรรอบหน้า

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษ "การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ" จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า

โดยระบุถึงสาเหตุปัญหาขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน ว่าคือการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารปี 2557 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลายเป็นตัวขัดแย้งหลัก หลังการเลือกตั้งปี 2562 โดยหากก่อรัฐประหารแล้วไม่สืบทอดอำนาจ จะไม่ตกอยู่ในสภาพนี้หรืออาจอยู่ในสถานะคนกลางตามที่อ้างในการยึดอำนาจได้ อีกทั้งปัญหารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

ขณะที่การตื่นตัวและชุมนุมของประชาชน เริ่มจากความไม่พอใจการยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านและกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ซึ่งมีเยาวชนนักศึกษาเป็นมวลชนและแกนนำหลัก ภายใต้ยุค Social Media ต่างจากก่อนและหลังรัฐประหารปี 2549 ที่เป็นการเมืองสีเสื้อและนำโดยผู้ใหญ่และกลุ่มการเมือง

โดยเห็นว่า ยุคนี้คล้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพียงแต่ข้อเรียกร้องปัจจุบันต้องการปฏิรูปสถาบัน ที่คนรุ่นใหม่มองสถาบันเสมือนเป็นหัวหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งในอดีตรัฐสภาไม่รับฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาประชาชน กระทั่งมีการนองเลือดก่อน โดยหวังว่า รัฐสภายุคนี้จะร่วมหาทางออก ไม่ต้องให้มีเหตุนองเลือด หรือการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก 

ปริญญา เสนอด้วยว่า รัฐไทยต้องคืนกลับสู่ "การปกครองตนเองของประชาชน" กลับสู่หลัก the king can do No Wrong และต้องแก้ไขระบบเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งรอบหน้า พร้อมย้ำถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างๆ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทุกเรื่อง เพราะพระมหากษัตริย์ เพียงลงพระปรมาภิไธย ตามที่มีผู้ทูลเกล้าเท่านั้น หรือตามหลัก "the king can do No Wrong" ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือการเมืองและเหนือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผู้แก้ปัญหาหลักๆ จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจไม่รู้หลักการนี้ 

ปริญญา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมถึงคณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง โดยเห็นว่า ประเทศไทยมีคณะกรรมการปรองดองมากเกินไปแล้ว และข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ มีอยู่แล้ว อีกทั้งการมีคณะกรรมการปรองดอง เป็นเหมือนการซื้อเวลา ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา พร้อมยืนยันว่า การแก้ปัญหาต้องกลับไปที่สาเหตุก็คือการสืบทอดอำนาจ ของคณะรัฐประหาร