เว็บไซต์นิตยสารไทม์ สื่อวิเคราะห์การเมืองของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่สัมภาษณ์พิเศษ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. โดยระบุว่าไทยกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้ง หลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 4 ปี นับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อรัฐประหาร แต่ก็ยังไม่อาจระบุวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้
'ชาร์ลี แคมป์เบล' ผู้สื่อข่าวของไทม์ ระบุว่าการสัมภาษณ์เกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่อังกฤษและฝรั่งเศสช่วงวันที่ 20-25 มิ.ย. 2561
บทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะตีพิมพ์ลงในนิตยสารฉบับพิมพ์ ประจำวันที่ 2 ก.ค. 2561 ทั้งยังมีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นปก พร้อมพาดหัวว่า Democrat. Dictator. Which part will Thailand's Prayuth Chan-ocha choose?
รายละเอียดคร่าวๆ คือ ไทม์ได้สอบถาม พล.อ. ประยุทธ์ ในเรื่องต่างๆ รวมถึงเหตุผลในการตัดสินใจก่อรัฐประหารและอนาคตของประเทศไทยหลังจากมีการเลือกตั้ง พร้อมทั้งสอบถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะหาทางอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่
พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ใช้เวลานานกว่า 6 เดือนก่อนตัดสินใจทำรัฐประหาร และเป็นการตัดสินใที่ยากที่สุดในชีวิต ขณะเดียวกันก็ระบุว่า การรัฐประหารไม่ได้เป็นการวางแผนล่วงหน้า แต่เป็นเพราะไม่อาจปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติได้
(หน้าปกไทม์ฉบับประจำวันที่ 2 ก.ค. 2561)
วางรากฐานประเทศไทยเผื่อไว้ให้ 'รัฐบาลหน้า'
ไทม์รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่มีต่อแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและนโยบายของประเทศไทยในอนาคต โดยย้ำว่า รัฐบาลของตนรับฟังทุกฝ่าย ทุกพรรค รวมถึงความเห็นสาธารณชนตามสื่อสังคมออนไลน์และข้าราชการ เพื่อจะนำไปปรับใช้กับการทำงานของรัฐบาล แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เคยอยากได้อำนาจ ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประเทศชาติอยู่ในจุดที่จะเข้าขั้นวิกฤต จึงไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้
พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า รัฐบาลของตนได้วางนโยบายประเทศเอาไว้แล้ว เพื่อให้รัฐบาลหน้าได้สานต่อแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ แต่ถ้าใครจะย้อนกลับไปทำแบบเดิมเหมือนก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็คงจะย้อนกลับไปสู่ปัญหาแบบเดิม ด้วยเหตุนี้ ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตนจึงต้องใช้อำนาจต่างๆ รวมถึงอำนาจทางกฎหมาย ในการรักษาระเบียบและความมั่นคง ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะกลับไปสู่ภาวะวุ่นวายแบบเดิม
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังระบุด้วยว่า ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพราะเราพึ่งพาอุตสาหกรรมทั้งเบาและหนักมาตลอดเวลา 40 ปี แต่ก็ไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นได้มากนัก และตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จำเป็นต้องวางนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
"หลายนโยบายที่รัฐบาลนี้วางไว้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรืออีอีซี จะกระตุ้นการลงทุนในสามจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออก รวมถึงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา จัดทำโครงการเมืองอัจฉริยะและโครงการดิจิทัลต่างๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลกและเทคโนโลยีต่างๆ"
"ไทยเป็นประเทศเล็กๆ"
เมื่อไทม์สอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน ซึ่งดูเหมือนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ได้รับคำตอบจาก พล.อ. ประยุทธ์ว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีมานับพันๆ ปี ส่วนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 200 ปี ถือว่ามีความสำคัญทั้งคู่ แต่จีนเป็นหุ้นส่วนอันดับ 1 ตามด้วยอันดับ 2 คือสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นมิตรที่ดีของไทย ส่วนไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ก็ย่อมจะต้องรักษาสมดุลทางการเมืองและการต่างประเทศให้เหมาะสม
พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะห่างเหินกันไป น่าจะเป็นเพราะสหรัฐฯ เองก็มีเรื่องภายในประเทศที่ต้องจัดการ และสหรัฐฯ ก็เหมือนจะห่างเหินไปจากกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เท่าที่ได้คุยกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็บอกว่าจะใส่ใจความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น
"(ทรัมป์) บอกผมว่าเขาไม่เคยมาเมืองไทยเลย แต่เคยรู้มาว่าไทยเป็นประเทศที่มีธรรมชาติสวยงาม อาหารอร่อย ผู้คนจิตใจดีและเป็นมิตร เป็นที่รู้จักในฐานะสยามเมืองยิ้ม หวังว่าวันหนึ่งเขาจะมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย"
"ส่วนรัฐบาลไทยก็จะสนับสนุนให้คนไทยเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น ด้านพลังงาน เหมือนอย่างที่โอไฮโอ มีการลงทุนจำนวนมหาศาล หลายร้อยล้านดอลลาร์ และกำลังเติบโต แล้วเราก็ยังวางแผนที่จะพัฒนาการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น เช่น สินค้าต่างๆ รวมถึง อากาศยาน"
ประชาธิปไตยไทยหน้าตาเป็นอย่างไร?
ไทม์ตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยในทัศนะของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับคำตอบว่า ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือการวางรากฐานของการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผ่านทางกระบวนการที่เหมาะสม ส่วนเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ถึงแม้จะมีสิทธิเสรีภาพทางด้านประชาธิปไตย แต่เสรีภาพเหล่านั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นๆ
"มีเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนและการละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่อาจฟังเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว และละเลยเสียงข้างน้อยเหมือนที่เคยเป็นมาในระบอบประชาธิปไตยยุคก่อนหน้านี้"
ส่วนกรณีที่ผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบถูกจับกุมอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า รัฐบาลเปิดช่องให้ยื่นคำร้องขอจัดการชุมนุมได้ และรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเสมอ แต่ถ้าเปิดให้ชุมนุมกันอย่างเสรี ก็จะทำให้ไทยมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ยากขึ้น
ไทม์รายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ ต้องการมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย และอยากจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ แต่รัฐบาลของตนก็ต้องตรวจสอบการเคลื่อนไหวของพวกเด็กๆ เพื่อให้เข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง และไม่อยากใช้มาตรการรุนแรงกับนักกิจกรรม แต่ที่จริงแล้วพวกนักกิจกรรมก็ต้องสุภาพเรียบร้อยกันบ้าง มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุม แต่ปล่อยพวกเขาไป เพราะรัฐบาลมองว่าพวกเขาเป็นเด็กๆ เป็นเยาวชน
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่าตนใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่คนบางกลุ่มพยายามใช้ประเด็นนี้มาบิดเบือนภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลก ตนรู้ดีว่าเป็นกลุ่มไหน แต่ไม่อยากจะชี้ตัว และต้องนิยามให้ชัดว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนคืออะไร ถ้าหมายถึงการใช้กำลังอำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุทำร้ายเชิงกายภาพ บอกได้ว่ารัฐบาลตนไม่เคยรับรองการกระทำเช่นนั้น และมีการลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทรมานเกิดขึ้น
"ทำไมไม่ไปถามเวลาที่นักกิจกรรมพวกนั้นละเมิดสิทธิคนอื่นบ้าง อย่างเช่นก่อกวนความสงบของสาธารณะ กีดขวางทางจราจร ทำให้คนอื่นๆ ใช้ชีวิตประจำวันหรือประกอบหน้าที่การงานได้ยากลำบากขึ้น" พล.อ. ประยุทธ์ถามกลับ
ไทม์รายงานว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์จะเติบโตที่โคราช แต่เขาระบุว่า บิดาเป็นคนกรุงเทพ และมารดามาจากภาคอีสาน แต่การเติบโตมาในครอบครัวทหาร ก็ต้องถือว่าเป็นคนของประชาชนทุกจังหวัด พร้อมย้ำว่า ชีวิตนี้มีเพื่อปกป้องมาตุภูมิและสถาบันพระมหากษัตริย์ และคิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่า หลังจากมีการเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาลตน เชื่อว่า ทุกอย่างจะดีกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะเมื่อไทยมีประชาธิปไตยที่ได้มาตรฐานสากลและรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่มีจริยธรรมอันดี ซื่อสัตย์ และมีธรรมาภิบาล
สอง (อดีต) นายกฯ ก็อยู่ที่อังกฤษเช่นกัน
ไทม์เผยแพร่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวขณะ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ โดยได้พบกับ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการหารือด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง โดยที่เมย์ได้ย้ำด้วยว่า ขอให้ไทยมีการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระและเปิดกว้าง เพื่อจะได้หารือเรื่องดังกล่าวต่อไปในอนาคต
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวบีบีซีไทย ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ก็ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนช่วงเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ
บีบีซีไทยรายงานว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้จัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิดปีที่ 51 แก่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาว และเป็นครั้งแรกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฎตัวผ่านสื่อ หลังจากเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.ปีที่แล้ว
ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของบีบีซีไทย อดีตนายกฯ ทักษิณระบุว่า แม้รัฐบาลอังกฤษให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร แต่การที่เขาและน้องสาวสามารถพำนักในอังกฤษได้ แสดงว่า "เขาไม่ได้รังเกียจที่จะต้อนรับเรา"
ส่วนกรณีที่มีการรายงานออกมาก่อนหน้านี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้วีซ่าธุรกิจเข้าอังกฤษอายุ 10 ปี 'ทักษิณ' ยืนยันกับบีบีซีไทยว่าเป็นความจริง แต่ไม่ได้บอกว่า ใช้หนังสือเดินทางของประเทศอะไร แต่ก็สะท้อนชัดเจนว่า "เขารู้ว่าบ้านเมืองเรากำลังเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เพราะฉะนั้นเขาคงไม่อยากที่จะเลือกข้าง เขาคงต้องเลือกผลประโยชน์ที่จะต้องทำมาหากินกับประเทศไทย... "
"ผมมองว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มาจากประชาธิปไตย อย่างน้อย เขามีความเห็นใจการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมากอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: