ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปสถานการณ์ 60 วัน หลังจากประกาศงดเผา พบจุดความร้อนสะสมรวม 3,042 จุด ลดลงกว่าปี 2560 มากกว่าร้อยละ 40 ในภาพรวมทั้ง 9 จังหวัดมีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 27 วัน โดยจังหวัดที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วงเวลาห้ามเผา ได้แก่จังหวัดเชียงรายและพะเยา

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค. เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2561 แต่ละจังหวัดได้ประกาศช่วงห้ามเผาอย่างเด็ดขาด จังหวัดตากและลำปางเป็นจังหวัดแรกที่ประกาศห้ามเผา ระหว่างวันที่ 10 ก.พ. – 10 เม.ย. 2561 และจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดสุดท้ายที่ได้กำหนดช่วงเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 30 เม.ย.2561

โดยข้อมูลผลการสำรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงห้ามเผาตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. - 11 เม.ย. 2561 พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 233 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในวันที่ 7 มีนาคม 2561 ลดลงกว่าปี 2560 ซึ่งตรวจวัดได้ 237 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่บริเวณเดียวกัน สำหรับจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน พบว่า ในภาพรวมทั้ง 9 จังหวัดมีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 27 วัน โดยจังหวัดที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วงเวลาห้ามเผา ได้แก่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา

นางสุณี กล่าว่า สำหรับจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเวลาห้ามเผาอย่างเด็ดขาด พบว่า มีจุดความร้อนสะสมรวม 3,042 จุด ลดลงกว่าปี 2560 มากกว่าร้อยละ 40 โดยจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมน้อยที่สุด ได้แก่ เชียงราย 5 จุด รองลงมาได้แก่ พะเยา 29 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 2561) โดยจุดความร้อนที่เกิดส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการลักลอบเผาป่าเพื่อหาของป่า ล่าลัตว์ การเผาในพื้นที่เกษตรและลุกลามเข้าสู่ป่า การเกิดไฟไหม้บริเวณริมทาง การเผาขยะ เป็นต้น 

นางสุณี กล่าวว่า จากการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าบริเวณภาคเหนือในช่วงปลายเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อนจัด และบางช่วงจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จากนั้นในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤษภาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง และมีฝนร้อยละ 20 -30 ของพื้นที่ จากนั้นจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ปริมาณฝุ่นละอองไม่เกิดการสะสม