ไม่พบผลการค้นหา
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมประท้วงทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก และแนวโน้มการต่อสู้สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของงานกราฟิกดีไซน์ที่เป็นมากกว่าแค่การเผยแพร่แนวคิดทางการเมือง แต่กลับเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์บันดาลความท้าทาย และสื่อสารความจริงที่ซุกซ่อนอยู่สู่สังคม

เมื่อปีก่อน ทุกคนคงเห็นเหตุการณ์ที่สตรีนับแสนเดินขบวนต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือกลุ่มรณรงค์ในอังกฤษที่ออกมาประท้วงผลการลงประชามติออกจากอียู ต่อด้วยคนในนครบาร์เซโลนาที่เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดรับผู้อพยพจากภัยสงคราม เรื่อยมาจนถึงการลุกฮือของเหล่านักแสดงฮอลลีวูดเบอร์ต้นๆ ที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีกระบวนการออกแบบกราฟิกแทรกซึมตัวอยู่ทุกอณู

ทางพิพิธภัณฑ์การออกแบบ (Design Museum) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงจัดนิทรรศการ ‘Hope to Nope: Graphics and Politics 2008-18’ บอกเล่าเหตุการณ์ทางการเมืองอันแสนวุ่นวายจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ปี 2008-2018 เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของงานกราฟิกดีไซน์ ซึ่งส่งผลต่อการชักชวนมวลชนให้เข้ารวมกลุ่มชุมนุม และการข่มขวัญสาธารณะ ขณะเดียวกันยังพิมพ์หนังสือ ‘Hope to Nope’ ออกมาสนองความต้องการให้ผู้ต้องการศึกษาพลังของการออกแบบการประท้วงที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

Hope_To_Nope_Design_Museum_Exhibition_Its_Nice_That_li.jpgHope_To_Nope_Design_Museum_Exhibition_Its_Nice_That_3.jpg

วกกลับมาบ้านเรา เหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตายืดเยื้อยาวนานมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม คณะรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างความปั่นป่วนทางการเมืองหนักมาก จนหลายคนกำลังรู้สึกว่าประเทศไทยอยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะการยื้ออำนาจของผู้นำที่หลอกล่อให้ประชาชนเฝ้าอดทนรอการเลือกตั้งแบบไร้อนาคตต่อไปเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายต้องก้าวออกมารณรงค์เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางสว่าง ทว่าผลตอบกลับจากระบอบเผด็จการทำให้ทุกอย่างดำดิ่งสู่จุดเลวร้ายกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนคงสังเกตเห็นท่ามกลางความชุลมุนของเหตุการณ์ประท้วงคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ในการออกแบบกราฟิกที่ช่วยผลักดันให้การเคลื่อนไหวกลายเป็นจุดสนใจ สะท้อนภาพความโมโหโกรธาได้ยั่วยวนกวนอารมณ์ และเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการปลุกระดมความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม

คนอยากเลือกตั้ง ประยุทธ์ __19120660.jpg

เมื่อพูดเรื่องการออกแบบกับการเมือง หลายคนอาจจินตนาการถึงป้ายประกาศ บิลบอร์ด และใบบลิวแบบเดิมๆ แต่ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บ่อยครั้งกราฟิกดีไซน์ ภาพประกอบ การ์ตูน สติ๊กเกอร์ และบทกวี ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจ และผู้ประท้วงอย่างชาญฉลาด ส่งผลให้บรรดานักวาดภาพมืออาชีพ ดีไซเนอร์ และสาธารณชน ต่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบทางการเมือง เพื่อสนับสนุนฝักฝ่ายของตนเอง

อย่างกรณีโปสเตอร์ ‘Hope’ ที่เป็นใบหน้าของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘บารัค โอบามา’ ผลงานของเชพเพิร์ด แฟรีย์ ศิลปินอเมริกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การทำแคมเปญเลือกตั้งปี 2008 แพร่กระจายอุดมคติออกไปพร้อมกับการหาเสียง เรื่อยมาจนถึง ‘Nope’ โปสเตอร์ประท้วงไม่เอาทรัมป์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ล้อเลียนบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง หรือกระทั่งการออกแบบภาพแทนหมวกถักสีชมพูหูแมว ซึ่งต่อมาถูกเรียกขานกันว่า ‘Pussy Hat’ หรือหมวกโสเภณี เพื่อแสดงสิทธิสตรี และท้าทายคำคุยโวโอ้อวดของทรัมป์

166.jpg

นอกจากนั้น การแจกจ่ายหน้ากากจากวรรณกรรมเรื่อง ‘Pinocchio’ จมูกยาวล้อเลียนเสียดสีหัวหน้า คสช. ในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง สะท้อนภาพความเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่มักพูดจาโกหกคำโต และไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ เรื่องการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ร่วมด้วยผลงานกราฟฟิตี้ปมนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็นตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างภาพกราฟิกกับการเมืองในสังคมไทย

ส่วนใหญ่แล้วความสำคัญของการออกแบบกราฟิกทางการเมืองวางเป้าหมายไว้ตรงการแสดงอารมณ์ และปลุกเร้าประชาชนทั่วไปให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง โดยเชื่อมโยงอาร์ตเวิร์กที่น่าเชื่อถือเข้ากับข้อความของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งมักแสดงจุดยืน ความรัก ความมุ่งมั่น และความหวังที่จะสร้างผลกระทบทางบวกกับสังคม

14.jpg

ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ก้าวเข้ามาทักทายแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือ เทคโนโลยี ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของมวลชน และวิธีสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถทำลายประสิทธิภาพการรณรงค์แบบเก่าๆ ลงสิ้นเชิง เพียงแค่ต้องหันมาทำงานควบคู่กันไปกับการแพร่กระจายของข้อความผ่านระบบดิจิทัล แต่แน่นอนว่า ผลงานกราฟิกทางการเมืองไม่ว่าจะรูปแบบไหน นักออกแบบส่วนใหญ่มักถูกบังคับให้ใช้นามแฝง เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และมันถือเป็นความสำคัญมาก

การออกแบบกราฟิกไม่ได้ใช้แค่ฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น เพราะบรรดานักการเมืองเองก็นำการออกแบบกราฟิกมาเป็นหนทางชักชวนฝูงชน ประชาสัมพันธ์ และการยืนยันอำนาจเช่นกัน อย่างโลโก้รณรงค์หาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ผู้ชิงตำแหน่งเป็นตัวแทนเข้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ผลงานของ ไมเคิล บิรุต นักออกแบบกราฟิกอเมริกันผู้มีชื่อเสียงมากสุดคนหนึ่ง ทว่ากลับสอบตกตามสายตานักออกแบบตัวหนังสือทั่วโลก หรือกรณีโลโก้สามเหลี่ยมหัวกลับบนพื้นหลังสีส้มของพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการสะท้อนความหวังยามรุ่งอรุณ และดูแตกต่างไปจากพรรคการเมืองเก่าๆ อย่างชัดเจน แต่หลายคนก็ยังออกมาแซวกันว่ามันเหมือนโลโกศูนย์ฟิตเนส

อนาคตใหม่.jpg

ในท้ายที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลกที่เข้มข้น และการก่อความรุนแรงยังคงดุเดือด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญที่มิอาจมองข้าม และพลังของการออกแบบทางการเมืองก็แวดล้อมอยู่รอบตัวเรา ซึ่งบางครั้งงานออกแบบกราฟิกที่ดีก็สามารถสื่อสารกับมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยผลักดันให้แนวคิดทางการเมืองก้าวหน้าไกลกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม: