น.ส.สริรินทร์ โภคาลัย หน่วยหนุนเสริมวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชาการสู่การเป็นสังคมสูงวัย โดยประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันครัวเรือนก็มีขนาดเล็กลง มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่อยู่คนเดียว ครัวเรือนที่มีเฉพาะสามีภรรยา ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่กับหลาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวได้ส่งผลต่อความเปราะบางของครอบครัว จึงเห็นสภาพปัญหาของครอบครัวในหลายๆ มิติ นำมาซึ่งผลกระทบโดยตรงกับความเข้มแข็งของชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้
สสส.มีทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ในการเพิ่มสัดส่วนของครอบครัวอบอุ่น มีแผนหลักที่รับผิดชอบดำเนินการคือแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ขณะเดียวกันแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วนได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ ในปี 25560 จึงได้สนับสนุนให้เกิดชุดโครงการ “โครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น” ในระดับชุมชน และหมู่บ้าน จำนวน 150 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนของกลไกบริหารจัดการชุมชนระดับหนึ่ง โดยใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นคนขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และหน่วยจัดการร่วมกับ สสส. จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมด้านวิชาการอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้หากจะขยายความ “ครอบครัวอบอุ่น” ได้เป็น 3 องค์กรประกอบ คือ สัมพันธภาพในครอบครัว เช่น การสื่อสาร การพูดคุย การใช้เวลาร่วมกัน จะนำไปสู่ครอบครัวอบอุ่นได้ ประการต่อมา คือ บทบาทหน้าที่ของครอบครัว เพราะเชื่อว่าหากมีการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ดูแลสุขภาวะของคนในครอบครัวจะมีส่วนที่ทำให้ครอบครัวอบอุ่น และท้ายสุด คือ การพึ่งพาตนเองของครอบครัว เช่น การไม่มีหนี้สิน ไม่มีอบายมุข ครอบครัวก็จะอบอุ่นเพราะไม่ต้องมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง อันเกิดจากความไม่สบายใจ
ครอบครัวถือเป็นหน่วยย่อยของชุมชน ถ้าหลายๆ ครอบครัวอบอุ่นก็จะไปหนุนชุมชนและสังคมเข้มแข็งได้ เพราะการที่จะมีชุมชนและสังคมที่ดีได้ต้องเริ่มจากครอบครัวเป็นลำดับแรก ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาหาร อารมณ์ สติปัญญา ดังนั้นหากเริ่มต้นที่ครอบครัวดีแล้ว ชุมชนและสังคมก็จะดีตาม
การขับเคลื่อนโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ทีมพี่เลี้ยงและหน่วยจัดการร่วม สสส. ที่จะต้องลงไปสำรวจชุมชนว่าแต่ละครอบครัวมีปัญหาเรื่องอะไร จากนั้นจะไปจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ซึ่งประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน ทุกคนจะมาร่วมถกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และออกแบบกิจกรรมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคน
“เป้าหมายหลักของโครงการครอบครัวอบอุ่น คือ มุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนครอบครัวอบอุ่นในระดับชุมชนให้มากขึ้น ส่งเสริมสมาชิกในครอบครัวมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว และเพื่อให้เกิดชุดความรู้ หรือบทเรียนการทำงานด้านครอบครัวอบอุ่นในระดับชุมชน หมู่บ้านเพื่อขยายผลการดำเนินในปีต่อๆ ไป” หน่วยหนุนเสริมวิชาการ สสส. กล่าว