จากกรณีเจ้าหน้าที่ พ.อ.อุทิศ อนันตนานนท์ รอง ผบ.ควบคุม มทบ. 42 พร้อมพวก ได้เข้าเชิญตัว นายไพรัช เจ้ยชุม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ต.โคกสัก อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย นายสำรอง เพชรทอง อายุ 58 ปี ชาวบ้าน ต.วังใหม่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนกองทุนชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง มาควบคุมตัว ณ บ้านพักรับรองของกองพันทหารช่าง ช. 402 ค่ายอภัยบริรักษ์ อ.ศรีนครินทร์ เพื่อพบปะ และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้ง 2 คน ได้ให้ความร่วมมือกับทหารด้วยดี
ต่อมา เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 12 พ.ย. 2560 นายไพรัช และ นายสำรอง แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง ได้ถูกปล่อยออกจากค่าย��หาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้ง 2 คนถูกนายทหาร 2 คน นำตัวออกมาจากค่ายดังกล่าว บรรดาแกนนำชาวสวนยางพาราทั้งใน จ.พัทลุง และ จ.ตรัง ได้เข้าแสดงความยินดีกับ นายไพรัช และ นายสำรอง ที่ถูกปล่อยตัวออกมาในครั้งนี้ โดยทั้ง 2 คนได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับบรรดาสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่หน้าค่ายอภัยบริรักษ์
จากนั้นกลุ่มแกนนำทั้ง 2 จังหวัด ประมาณ 10 คน ได้นำ นายไพรัช และ นายสำรอง ขึ้นรถกระบะส่วนตัวมารับประทานอาหารเที่ยง เพื่อให้กำลังใจ และปลอบขวัญแก่บุคคลทั้ง 2 ราย ณ ร้านอาหารครัวสังข์หยด ริมถนนเอเชีย ขาล่อง ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง
ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้แก้ไขปัญหาราคายาง นาย มนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายยางพารา 15 องค์กร ยังยืนยันว่าจะเดินทางยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตกรและสหกรณ์ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ย. นี้เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางและปลดบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยที่บริหารงานผิดพลาดจนทำให้ราคายางตกต่ำ
ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะรองโฆษกการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพารา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดสูง ทำให้ราคายางในสภาพปกติมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สำหรับปีนี้ ภาพรวมราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน
แต่ปัญหาราคายางขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจาก ปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ยางไม่สมดุลกัน ส่งผลต่อราคาขาย โดยประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แต่ราคายางในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3% ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึง ความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อและราคาในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อราคายางของตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย และการเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งตลาดซื้อขายจริงในประเทศและตลาดล่วงหน้า กระทบต่อการซื้อขายทำให้ราคาในตลาดนั้นๆ มีความผันผวนลดลงเช่นกัน
นายสุนันท์ กล่าวว่า การตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อกระตุ้นแรงซื้อตลาดในประเทศ ผลักดันและพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนกับความเป็นจริง ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ เพราะตามคาดการณ์อาจมีปริมาณยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กองทุนนี้ ซึ่งดำเนินการภายใต้ชื่อ บจก. ร่วมทุนยางพาราไทย จะดำเนินการซื้อยางผ่านตลาดกลาง กยท. ซึ่งเป็นการซื้อขายจริง และการซื้อขายสัญญาผ่านตลาดล่วงหน้า โดยไม่มุ่งเน้นแสวงกำไร เพื่อให้ประโยชน์ของกองทุนฯ ตกอยู่ที่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
สำหรับการจัดตั้งบริษัทโดยถือหุ้นร่วมกับภาคสถาบันเกษตรกร กยท. กำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าบริษัทร่วมทุนได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์มาโดยตลอด