ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ สามารถตรวจรู้ผลได้ใน 8 ชั่วโมง เตรียมรับมือกับสถานการณ์ หลังพบการระบาดในประเทศอินเดีย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ มีรายงานการระบาดครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2541-2542 และปีนี้มีรายงานการระบาดที่ประเทศอินเดีย แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย โดยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จัดเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2559 มีค้างคาวผลไม้เป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ และยังมีสัตว์พาหะนำโรคอื่นๆ ที่มีรายงานคือ สุกร ม้า แมว แพะและแกะ การติดต่อของโรคเกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์หรือสารคัดหลั่ง ของสัตว์พาหะนำโรคที่ติดเชื้อ 

ส่วนการติดต่อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายหรือเลือดของคนที่ติดเชื้อ มีระยะฟักตัวประมาณ 2-14 วัน หรืออาจจะถึง 1 เดือน ในระยะเริ่มแรกผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายผู้เป็นไข้หวัด คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจมีอาการของ ระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย สมองอักเสบ หรืออาจมีไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน ชัก มีการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ แขนขากระตุก ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย กล่าวต่ออีกว่า แม้โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ยังไม่มีการระบาดในไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เตรียมความพร้อมการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โดยการตรวจสารพันธุกรรมไวรัสนิปาห์ด้วยวิธี Real-time RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีอ้างอิงวิธีการตรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US-CDC) ที่มีความไวและความจำเพาะสูง โดยใช้ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งคอ/โพรงจมูก น้ำไขสันหลัง เลือด และตัวอย่างชิ้นเนื้อ ได้แก่ เนื้อสมอง ปอด ไตและม้าม การเก็บตัวอย่างส่งตรวจจะใช้อย่างน้อย 2 ชนิดตัวอย่างขึ้นไป สามารถรู้ผลการตรวจได้ภายใน 8 ชั่วโมง ส่งตรวจได้ที่ศูนย์ประสานงานตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ (ศปส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข โทร. 02-9511485 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายไวรัสระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต โทร. 02-9510000-11 ต่อ 99312, 98362

“ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน การรักษาเป็นการรักษาตามอาการของโรค แต่เราสามารถป้องกันโรคได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์รังโรคและสัตว์พาหะนำโรค หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย ปัสสาวะ มูลค้างคาวและสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรค ควรล้างผลไม้ให้สะอาด ก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ ซากสัตว์ทุกครั้ง โดยเฉพาะกับค้างคาว สุกร ม้า แมว แพะและแกะ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: