ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อคุ้มครองประชาชน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์หลังพบการระบาดรอบใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

นพ. สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าพบการระบาดรอบใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบผู้ป่วยทั้งหมดที่สงสัยการติดเชื้อ 34 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 18 คน และมีผลยืนยันการติดเชื้อแล้ว 2 คน โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงและถึงแก่ชีวิต

การระบาดครั้งนี้นับเป็นการระบาดครั้งที่ 9 ตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกของโรคนี้ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อปี 2519 อาการของโรคนี้ในช่วงแรกมักมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน ตาแดง ผื่นที่ผิวหนัง เมื่อมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 50 เชื้อไวรัสนี้แพร่จากสัตว์ป่ามาสู่คน จากนั้นจึงแพร่ระบาด ไปยังชุมชน โดยการแพร่จากคนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการ 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของเชื้ออีโบลา โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาที่มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 6 ชั่วโมง ช่วยให้การควบคุมโรคและการรักษาผู้ป่วยได้ทันเวลา มีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 Biosafety level 3(BSL-3) laboratory สำหรับการปฏิบัติงานกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่ออกแบบพิเศษ ทำให้ความดันภายในห้องปฏิบัติการน้อยกว่าความดันภายนอก กรองอากาศเข้า-ออก เน้นการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ ไม่ให้หลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

บุคลากรมีความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ปฏิบัติงาน ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ และมีความชำนาญ ในการตรวจวิเคราะห์เป็นอย่างดี พนักงานยานพาหนะที่ทำหน้าที่ขนส่งตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสอีโบลา ก็ผ่านการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และสามารถทำลายเชื้อหากเกิดการปนเปื้อน ระหว่างการขนส่ง 

“กรณีพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้ออีโบลาในสถานพยาบาลให้ประสานสำนักระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันและ ควบคุมโรคหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อสอบสวนโรคและวางแผนประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการรับตัวอย่างส่งตรวจ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดและคำแนะนำวิธีปฏิบัติในการตรวจวิเคราะห์และจัดการสิ่งส่งตรวจ จากผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้จากเว็บไซต์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ” นายแพทย์สุขุม กล่าว 

ขอบคุณภาพ : Photo by Jaron Nix on Unsplash